KTZ ปีนี้เน้นประคองธุรกิจ-เพิ่มผลิตภัณฑ์หลากหลาย-ไม่บี้ค่าคอม,เปิดกว้างพันธมิตร

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 29, 2011 11:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเชาว์ อรัญวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บล.เคที ซีมิโก้ (KTZ)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทในปีนี้จะเน้นการประคองตัวเตรียมพร้อมรับการเปิดเสรีโบรกเกอร์ในปี 55 ทั้งนี้ เพื่อรอดูสถานการณ์ต่าง ๆ ก่อน โดยปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)ธุรกิจหลักทรัพย์อยู่กว่า 4% ใกล้ ๆ อันดับ 10

"รอให้ใกล้ ๆ เปิดเสรีโบรกฯก่อน แล้วก็จะคิดออกเอง ตอนนี้ต้องดูสถานการณ์รอบ ๆ ขณะนี้จริง ๆ ผมก็แค่ Keep ยังไม่คิดจะบุกอะไร มาร์เก็ตแชร์ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่โอเค ก็เลยไม่อยากบุก เพราะบุกไปเดี๋ยวเปิดเสรีฯก็จะยิ่งเหนื่อย ตอนนี้มาร์เก็ตแชร์ของเราก็อยู่ประมาณ 4 กว่า ๆ เอง อยู่ในอันดับใกล้ ๆ 10 คิดว่ายังไม่อยากบุกตอนนี้ เพราะบุกตอนนี้ก็จะส่งผลไปถึงปีหน้าแน่ ๆ"นายเชาว์ กล่าว

นายเชาว์ กล่าวต่อว่า ทางบริษัทฯยังไม่คิดที่จะลงไปแข่งขันด้านค่าคอมมิชชั่น เนื่องจากหากลงไปแข่งสู้ที่อัตราต่ำๆ ก็จะอยู่อย่างลำบากขึ้นเมื่อถึงเวลาเปิดเสรีโบรกเกอร์ ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือการพยายามเพิ่มผลิตภัณฑ์(Product)ให้มีความหลากหลาย ซึ่งก็น่าจะช่วยได้ อย่างการขาย DW และการไปหารายได้จากตลาดหุ้นลาว เป็นต้น

"ถ้าผมลงไปเล่น rate ต่ำ ๆ อย่างนี้ พอเปิดเสรีฯผมก็ต้องเล่นต่อ แล้วผมจะอยู่ในยังไง ณ วันนี้ผมก็คิดว่าจะประคองตรงนี้ไปก่อน แต่ก็ต้องพยายามจะเพิ่ม product ของตัวเองเข้าไปให้มันหลากหลาย ก็น่าจะช่วยได้ อย่างออกขาย DW เป็นต้น นอกจากนี้ผมก็มีรายได้จากลาวเข้ามาช่วย จากการขาย IPO หุ้นเข้าตลาดลาว รายได้ตรงนี้ก็โอเคนะ คือคู่แข่งตอนนี้มันน้อย มันก็ทำงานง่าย"นายเชาว์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

กรรมการผู้จัดการ KTZ กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้าหลักทรัพย์ของบริษัทฯมีจำนวนนับหมื่นราย ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากบริษัทจะไม่ไปเน้นลูกค้ารายใหญ่ เพราะไม่ต้องการรับการต่อรองในเรื่องค่าคอมมิชชั่น

"โบรกฯเล็ก ๆ จะแข่งคอมมิชขั่นมันก็ไม่ไหว อย่างของบริษัทฯจัดเป็นโบรกฯกลาง ไม่ใช่โบรกฯใหญ่ เราสู้เขาไม่ไหว เขาเล่นกันนู้น สารพัดเล่น คือใจผมตอนนี้ผมแค่คิดจะ Keep ลูกค้าตรงนี้ให้อยู่ แล้วผมก็ทำไปเรื่อย ๆ มันก็โอเค ผมเลยไม่ลงไปแข่งคอมมิชชั่น ส่วนค่าคอมมิชชั่นของบริษัทฯก็เล่นไปตามที่ตลาดฯกำหนดไว้ ไม่ได้เล่นอะไรนอกลู่นอกทาง ก็มีกินน้อย ใช้น้อย ก็อยู่ได้"กรรมการผู้จัดการ KTZ กล่าว

นายเชาว์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯยังมี Prop. trade อยู่ แต่มองว่าต่อไปก็จะค่อย ๆ หายไป โดยตอนนี้บริษัทฯยังทำกำไรจาก Prop.trade ได้เลยให้เล่นกันต่อไป ด้วยการจำกัดวงเงินไม่เกิน 20-30 ล้านบาท/วัน

"Prop. trade จะเริ่มตายซาก แต่จะเป็นการไปออกทาง DW แทน ดูอย่าง KGI สิ ออกมาคนแรก นั่งลูบปากคนเดียว มันเป็นเรื่อง Know how ใครรู้ก่อนก็ได้เปรียบ"

นายเชาว์ กล่าวว่า บริษัทฯได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากธนาคารกรุงไทย(KTB)ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 49% ในบริษัทฯ เป็นอย่างดี ซึ่งขณะนี้บริษัทคาดหวังจะได้ฐานลูกค้าจาก KTB ภายหลังมาตรการยกเลิกการประกันเงินฝากจะลดวงเงินเหลือเพียง 1 ล้านบาทในปีหน้า

"ทาง KTB ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง ช่วยในเรื่อง Funding และช่วยหาลูกค้าให้ จากฐานลูกค้าเงินฝากของแบงก์ คนที่ทำงานอยู่ในกลุ่มแบงก์มันจะได้เปรียบ เพราะว่าในเรื่องรับประกันเงินฝากจะเลิกแล้วในปีหน้า มันก็น่าจะได้ฐานลูกค้าจากแบงก์เข้ามาช่วยเรา ตรงนั้นเป็นอะไรที่มอง ตลาดฯเองก็จับโบรกเกอร์ที่มีแบงก์เป็นฐานอยู่เยอะ"

*เปิดทางรับพันธมิตรใหม่มาช่วยเกื้อหนุนธุรกิจหลักทรัพย์

กรรมการผู้จัดการ KTZ กล่าวว่า ทางบริษัทฯยังคงเปิดรับพันธมิตรใหม่ที่จะเข้ามาช่วยเหลือในธุรกิจหลักทรัพย์ แต่หากจะร่วมทุนด้วยคงจะต้องเป็นเรื่องการตัดสินใจของแบงก์กรุงไทย(KTB)ซึ่งก็คงจะไม่ยอมให้ร่วมทุนด้วย

"หาสถาบันต่างชาติหามาเป็น 10 ปีแล้ว ไม่เห็นหาได้เลย มีใครช่วยก็เอาทั้งนั้น ก็เปิดรับพันธมิตรใหม่ ปิดไม่ได้หรอกชั่วโมงนี้ ก็มาช่วยด้านโบรกเกอร์นี้ แต่ตอนนี้ยังหาไม่ได้ ก็หาไปเรื่อย ๆ ทาง KTB คงจะไม่ยอมให้ร่วมทุนด้วยมั่ง ก็คงให้มาร่วมทางธุรกิจเท่านั้น"กรรมการผู้จัดการ KTZ กล่าว

นายเชาว์ กล่าวว่า บริษัทฯยังไม่มีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากทางแบงก์กรุงไทย(KTB)คงจะไม่ต้องการให้เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ เพราะแบงก์ต้องการจะรักษาลูกค้าให้อยู่กับแบงก์

"บริษัทฯยังไม่มีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากแบงก์ไม่ต้องการจะให้เอาเข้า ทางแบงก์ KTB แค่ต้องการ Keep ลูกค้าให้อยู่กับเขา แบงก์มันต้องเริ่มปรับตัวเอง ถ้าแบงก์ไม่เริ่มปรับตัวเองก็จะแข่งขันในตลาดฯได้ยาก ไม่งั้นกลุ่มกสิกรทำแบบครบวงจรเพื่อจะเก็บลูกค้าให้อยู่ในมือเขา วันหลังบริษัทหลักทรัพย์ก็จะสาปสูญไป ถูกแบงก์กลืนไปหมด"นายเชาว์ กล่าว

นายเชาว์ กล่าวว่า ขณะนี้แบงก์เริ่มทำธุรกรรมทุกด้าน รวมถึงธุรกรรมหลักทรัพย์และธุรกิจจัดการลงทุน โดยอาศัยความเชื่อมโยงในแง่ของธุรกิจ เช่นเดียวกับธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย ซึ่งช่วยให้ธนาคารพาณิชย์เติบโตได้อย่างรวดเร็วจากรายได้ค่าธรรมเนียม

"แบงก์ที่โตขึ้นมาได้เพราะเป็น Universal Bank ไง มันค่อย ๆ แปลงตัวเองเป็น universal มันค่อย ๆ เข้าไปกินบลจ. กินเข้าไปในธุรกิจประกันภัย -ประกันชีวิต เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าแบงก์จะต้องเอาธุรกิจประกันมาขาย เพราะเวลาที่ธุรกิจประกันได้ค่าคอมมิชชั่นทีมันได้เยอะไง แบงก์ถึงได้โตมาก ค่อย ๆ คืบไปทีละอย่าง ในที่สุดธุรกิจหลักทรัพย์ก็ต้องไปอยู่ในมือหมด ไม่งั้นธุรกิจหลักทรัพย์ต้องไปเล่นนิช ซึ่งมันไม่ง่าย"นายเชาว์ กล่าว

นายเชาว์ กล่าวถึงบล.ซีมิโก้(ZMICO)ว่า ขณะนี้ ZMICO เป็นบริษัทโฮลดิ้งไปแล้ว และได้ย้ายบุคลากรเข้ามาอยู่ที่ KTZ ซึ่ง ZMICO กับ KTZ จริง ๆ เป็นคนละบริษัทฯกัน เพียงแต่ยังใช้ผู้บริหารทำงานซ้อนกันอยู่ เพราะตามสัญญา ZMICO ห้ามทำธุรกิจหลักเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อไม่ให้เป็นคู่แข่งกันเอง ตอนนี้ก็รอให้ครบกำหนดจนกว่า KTZ จะตั้งหลักได้ ซึ่งหลือเวลาอีก 1 ปี

ในส่วนของ ZMICO ขณะนี้มีพนักงานอยู่ประมาณ 5 คน หากจะเริ่มกลับมาทำธุรกิจก็คงจะเป็นในลักษณะงานด้านวาณิชธนกิจ M&A, ทำเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพราะไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรมาก และคงไม่มีแนวคิดที่จะทำธุรกิจโบรกเกอร์เต็มรูปแบบ แต่จะออกมาเป็น Investment Bank

*ตลาดหุ้นลาวปีนี้จะมีสินค้าใหม่ราว 3 ตัว จากปัจจุบันที่มี 2 ตัว

กรรมการผู้จัดการ KTZ กล่าวว่า การเข้าไปหารายได้จากลาวเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่ขณะนี้ยังไม่มีคู่แข่งการทำธุรกิจค่อนข้างง่าย ซึ่งปัจจุบันตลาดลาวมีการเทรดหุ้นอยู่แค่ 2 ตัวเท่านั้น แต่ปีนี้คาดว่าจะมีสินค้าใหม่อีกประมาณ 3-4 ตัว

"ตอนนี้ก็ใกล้จะมีตัวที่ 3 แล้วในตลาดลาว ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายตัวที่จะเข้าเทรดในตลาดหุ้นลาว ตลาดหุ้นลาวยังดูดีอยู่ เพียงแต่ว่าตอนนี้มันเล็กไปหน่อยเท่านั้นเอง ซึ่งปีนี้น่าจะมีสินค้าใหม่เข้าไปเทรดในตลาดลาวประมาณ 3-4 ตัว จากปัจจุบันที่มี 2 ตัว"

กรรมการผู้จัดการ KTZ กล่าวว่า บริษัทในประเทศไทยคงยังไม่สนใจระดมทุนในตลาดหุ้นลาว เนื่องจากลาวเล็กกว่าไทยมาก โดยประชากรมีน้อยกว่า 10% ของประชากรไทย ส่วนนักลงทุนลาวจะมาเทรดหุ้นไทยก็เป็นผลพลอยได้ของบริษัทฯไป

"คงไม่ง่าย เพราะจะไปเอาอะไรทึ่นู้นล่ะ เพราะที่โน่นฐานเงินเล็กกว่าเราตั้งเยอะ ใครจะไประดมทุน ไม่ใช่ประเทศเขาใหญ่โต ประเทศเขาเล็กกว่าเรา ประชากรมีแค่น้อยกว่า 10% ของเราเอง มันก็ต้องอยู่แบบประเทศเล็ก ๆ มันต้องเล่นนิช แต่เราก็ยังพอหารายได้จากลาวได้ ก็เรียกกว่าพอเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร"นายเชาว์ กล่าว

อนึ่ง ปัจจุบันตลาดหุ้นลาว มีสินค้า 2 ตัว คือ ธนาคาร แบงค์ ปูร์ เลอ กอมเมิร์ช เอ็กซ์เตอริเยอร์ ลาว (BCEL) และบริษัท อิเลกตริไซต์ ดู ลาว เจเนอเรชั่น(Edl Gen)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ