นักวิเคราะห์มองหุ้นกลุ่มผู้ผลิตอาหารที่ใช้กุ้งเป็นวัตถุดิบจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักของแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง ปาล์ม ยาง ขณะที่หลังน้ำลดกลุ่มวัสดุก่อสร้าง-ค้าปลีกน่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุด
นายสมชาย เอนกทวีผล นักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซียไซรัส มองว่าสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคใต้ตอนล่างจะมีผลกระทบในเชิงลบกับผู้ผลิตอาหารที่ต้องใช้วัตถุดิบที่ผลิตในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงกุ้ง คือ TUF, CFRESH เนื่องจากมีต้นทุนการเลี้ยงกุ้งจะสูงขึ้น และ VNG ซึ่งมีไม้ยางเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า อาจจะมีราคาแพงขึ้น และ TPOLY ที่มีงานก่อสร้างใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่หลังจากน้ำลดแล้วจะเป็นประโยชน์กับกลุ่มวัสดุก่อสร้างและกลุ่มค้าปลีก เมื่อกำลังซื้อกลับมา แต่อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามสถานการณ์ แต่หากยืดเยื้อก็อาจจะส่งผลกระทบต่องบ Q2/54 ได้ คงต้องติดตาม แต่ในช่วงสั้นสามารถลงทุนได้ มองว่าหลังน้ำลดจะเป็นบวกต่อกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ DCC, SCC, TASCO, DRT, รวมถึงกลุ่มค้าปลีก CPALL, HMPRO, CPF และ BIGC
ด้านนายประสิทธิ์ รัตนกิจกมล นักวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า กรณีน้ำท่วมภาคใต้มองว่าผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลต่องบของกลุ่มวัสดุก่อสร้างในไตรมาส 1/54 ที่ปกติจะเป็นช่วงไฮซีซั่นของการก่อสร้าง แต่อาจจะถูกผลักดันไปในช่วงไตรมาส 2/54 แทน ซึ่งคงต้องติดตามสถานการณ์ เพราะในไตรมาส 2 เป็นช่วงที่มีวันหยุดค่อนข้างมากด้วย
หากปริมาณน้ำลดน่าจะส่งผลต่อกลุ่มค้าปลีกและกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่เป็นกลุ่มที่น่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุด แต่ทั้งนี้คงต้องประเมินถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นด้วยเพราะอาจจะกระทบต่อกำลังซื้อ
"ช่วงที่น้ำท่วมคงได้รับผลกระทบกันไปหมด พืชผลที่เคยทำมาหากินและสร้างรายได้ก็หายไป ก็ย่อมทำให้กำลังซื้อหายไป คงต้องดูหลังจากน้ำลดว่ากำลังซื้อจะเป็นอย่างไรมาช้าหรือเร็ว"
ขณะที่บทวิเคราะห์ บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า เบื้องต้นคาดว่าน้ำท่วมภาคใต้ครั้งนี้จะมีความเสียหายประมาณ 1 หมื่นลบ. ในพื้นที่ประสบอุทกภัย 8 จังหวัด ผลผลิตส่วนใหญ่ ได้แก่ กุ้ง บริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งอันดับ 2 รองจากภาคตะวันออก โดยมีสัดส่วนกุ้งจากทางภาคใต้ราว40% ของผลผลิตกุ้งทั้งหมด โดยราคากุ้งขาวล่าสุดปรับตัวสูงขึ้น 5 บาท/กก.W-W อยู่ที่ 155 บาท/กก. (+15% YTD)
และ ยางพารา ทั้ง 5 จังหวัด มีพื้นที่ปลูกยางพาราคิดเป็นสัดส่วน 50% ของพื้นที่ปลูกยางทั้งหมดของภาคใต้ หรือ35% พื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศ อยู่ที่ราว 5.6 ล้านไร่
ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นลบต่อ TUF แต่คาด Neutral CPF/สวนปาล์ม จ.สุราษฎร์ และชุมพรอาจเสียหาย เป็นลบกับ LST สวนยางเสียหาย STA คาด Slightly positive