นางศศิธร พงศธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย (LH BANK) คาดว่าจะขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 1,443.10 ล้านหุ้น คิดเป็น 12.7% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ใน 27-29 เม.ย.นี้ และคาดว่าจะเข้าเทรดได้ 10 พ.ค.นี้
บริษัทจะทำบุ๊คบิลท์วันที่ 22 เม.ย. ก่อนจะกำหนดช่วงราคา ทั้งนี้ มูลค่าทางบัญชี(book value)ของบริษัทหุ้นละ 1.13 บาท โดยคาดว่าจะระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนด้านระบบสารสนเทศรองรับการเติบโตสาขา เช่น เอทีเอ็มพูล และ อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง เป็นต้น
ภายหลังการเพิ่มทุนจะทำให้บริษัทมีทุนเรียกชำระแล้วเพิ่มเป็น 11,371 ล้านบาท จากเดิม 9,928 ล้านบาท โดยบริษัทมีแผนนำเงินที่ได้จาการขายหุ้น IPO ไปลงทุนใน LH Bank จะทำให้มีเงินกองทุนเพิ่มมากกว่า 12,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีเงินกองทุนมากกว่า 10,000 ล้านบาท ปัจจุบัน อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส)อยู่ที่ 30% เพียงพอต่อการขยายกิจการ 3 ปี ข้างหน้าโดยไม่ต้องเพิ่มทุนใหม่
ทั้งนี้ ธนาคารได้ยื่นขอหนังสืออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ และคาดว่ากระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จภายในปี 54 โดยคาดว่า ธปท.จะใช้เวลาพิจารณาไม่ต่ำกว่า 5 เดือน
นางศศิธร กล่าวว่า การหาพันธมิตรต่างประเทศ คาดว่าจะเจรจาให้แล้วเสร็จหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว ที่ผ่านมาตกลงกันไม่ได้เพราะยังมีเรื่องราคาที่ตกลงไม่ได้ และไม่ชัดเจนระหว่างธนาคารพาณิชย์ กับธนาคารเพื่อรายย่อย
"การหาพาร์ทเนอร์เราไม่เร่งรีบจะคุยเรื่องนี้อีกครั้งหลังเช้าตลาด ที่ผ่านมาติดเรื่องราคา เพราะไม่ชัดเจนระหว่างธนาคารเพื่อรายย่อยกับธนาคารพาณิชย์ พาร์ตเนอร์ก็อยากได้ไลเซ่นส์ธนาคารพาณิชย์" นางศศิธร กล่าว
สำหรับแผนธุรกิจในช่วง 3 ปีของ LH Bank ได้แก่ ยอดเงินฝาก ยอดสินเชื่อ และ สินทรัพย์รวม จะมีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่า 20% และกำไรสุทธิ จะมีอัตราการเติบโตต่อปีไม่น้อยกว่า 15% พร้อมกันนั้นจะมีการขยายสาขาเพิ่มทั้งในกรุงเทพ และ ปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด ให้มีจำนวนทั้งสิ้น 75 สาขา ซึ่งการมีสาขาและเครือข่ายจำนวนมากทำให้บริษัทขยายฐานเงินฝากได้มากขึ้นและบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น โดยปัจจุบันมีจำนวนสาขา 32 แห่ง และในสิ้นปี 54 จะเพิ่มเป็น 41 สาขา
และจากการที่บริษัทถือหุ้นใน บลจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH FUND) จะเปิดให้บริการในไตรมาส 2/54 จะทำให้ธนาคารมีบริการครบวงจรมากขึ้น