นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.มิลล์คอนสตีลอินดัสทรีส์(MILL) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ในปีนี้คาดว่ากำไรสุทธิจะดีกว่าปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 115.86 ล้านบาท จากอัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นมาเป็นประมาณ 7-8% สูงกว่าปีก่อนที่มีอัตราอยู่ที่ 4-5% และราคาขายเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้น และกำไรขั้นต้นจะขยับขึ้นมาสูงถึง 15-20% ในปี 55 หลังจากโครงการ Green Mill เดินเครื่องเกือบเต็มกำลังการผลิต ช่วยผลักดันให้กำไรสุทธิในปีหน้าเติบโตโดดเด่น
ขณะที่รายได้ในปี 54 คาดว่าจะเติบโตมากกว่า 15% จากปีก่อนที่ทำรายได้ 9.8 พันล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมโครงการ Green Mill คาดว่ารายได้จะเติบโตราว 15% เท่านั้น แต่เมื่อรวมกับโครงการ Green Mill ที่จะเดินเครื่องได้ใน ต.ค. 54 ทำให้บริษัทรับรู้รายได้เพิ่มในไตรมาส 4/54 ช่วยผลักดันรายได้ทั้งปีให้เติบโตมากขึ้น
"รายได้ที่เติบโตมาจากแนวโน้มดีมานด์เพิ่มขึ้น ปีที่แล้วฝนตกน้ำท่วมไม่ค่อยมีการสั่งของ แต่ปีนี้กลับมา และราคาเหล็กเพิ่มขึ้นทำให้ราคาขายเพิ่มมากขึ้น และเจาะตลาดใหม่" นายสิทธิชัย กล่าว
ทั้งนี้ ราคาเหล็กเส้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันราคาปรับขึ้นไปแล้วประมาณ 10-15% ส่วนเหล็กรูปพรรณปรับขึ้นไป 20-25% โดยราคาเหล็กจะปรับราคาขายตามต้นทุนที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และคาดว่าแนวโน้มราคาเหล็กจะยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ทำให้รายได้ในไตรมาส 1/54 ดีกว่าปีก่อนในไตรมาสเดียวกัน และแนวโน้มรายได้ในไตรมาส 2/54 คาดว่าจะดีต่อเนื่อง
ปัจจุบัน บริษัทมีงานในมือ(backlog) อยู่ 6-7 หมื่นตัน เป็นมูลค่าประมาณ 1.2-1.3 พันล้านบาท
ส่วนโครงการ Green Mill ที่เป็นโครงการผลิตเหล็กเกรดพิเศษ รองรับการใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องจักร โดยไทยนำเข้าเหล็กเกรดพิเศษปีละ 3 แสนตันต่อปี ทั้งนี้ เฟสแรกบริษัทจะผลิตเหล็กจากโครงการ Green Mill จำนวน 6 แสนตันต่อปี โดยในปี 55 จะผลิตได้ 75% ของกำลังการผลิต และมีโอกาสเพิ่มกำลังการผลิตไปถึง 1 ล้านตันต่อปี
"ปีหน้าถ้าโครงการ Green Mill เสร็จ มาริ์จิ้นเฉลี่ยในปัจจุบันมีโอกาสปรับขึ้นมาเป็น 15-20% ปีหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ"นายสิทธิชัย กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทเจาะตลาดกลุ่มใหม่ ที่เน้นเหล็กโครงสร้างรองรับแผ่นดินไหว ซึ่งปัจจุบันมีออเดอร์จากนิวซีแลนด์ และ ออสเตรเลียอยู่ราว 1 พันล้านบาท และคาดว่าในปลายปีนี้จะมีออเดอร์จากประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ โครงการ Green Mill จะผลิต billet ทั้งระดับ commercial grade ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเหล็กเส้น เหล็กข้ออ้อย และ billet ระดับ special grade เพื่อสร้างสินค้าที่เป็น high value added ปัจจุบันในประเทศไทยยังคงต้องนำเข้า billet อยู่