สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อให้สมาชิกกองทุนสามารถกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างเหมาะสม และเป็นการรองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุน
โดย 1) ให้บริษัทจัดการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุน (master fund) แยกตามรายนโยบายการลงทุน (sub fund) แทนการคำนวณตามรายกองทุนในทุกกรณี โดยรวมถึงกรณีลงทุนในทรัพย์สินของนายจ้างหรือบริษัทในเครือของนายจ้างด้วย
2) จำกัดการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมภายใต้การจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่เป็นนายจ้างให้ไม่เกิน 15% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และต้องไม่เกิน 15% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของแต่ละกองทุนรวมภายใต้การจัดการของนายจ้างรายเดียวกัน
3) แก้ไขนิยามของ “บริษัทในเครือของนายจ้างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" ให้หมายถึงบริษัทใหญ่และบริษัทย่อยตามมาตรฐานการบัญชีที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนดเกี่ยวกับการจัดทำงบการเงินรวม
4) อนุญาตให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถลงทุนในกลุ่มทรัพย์สินทางเลือก (alternative investment) ซึ่งได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และตราสารที่อ้างอิงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ประเภทใดประเภทหนึ่งหรือรวมกันไม่เกิน 15% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของแต่ละกองทุน
5) อนุญาตให้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลงทุนในทรัพย์สินประเภทเดียว (pure asset) ได้ โดยบริษัทจัดการต้องคุมอัตราส่วนการลงทุนตามรายสมาชิก
6) บริษัทจัดการต้องลงทุนในทรัพย์สินที่กำหนดและมีการกระจายความเสี่ยงไม่ต่ำกว่าอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนด ไม่ว่าเป็นการลงทุนทางตรงหรือทางอ้อม
และ 7) บริษัทจัดการต้องประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงและให้คำแนะนำที่เหมาะสม (suitability) แก่สมาชิกแต่ละราย ที่มีทางเลือกในการลงทุน (employee’s choice) หากสมาชิกเลือกลงทุนในนโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำน้อยกว่า 50% ของมูลค่าเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตนเอง (นโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำหมายถึงนโยบายที่มีการลงทุนในเงินสด หรือตราสารหนี้ที่ไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน)