นายประจักษ์ มโนธัม รองผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)และประธานคณะกรรมการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า วันนี้คณะกรรมการฯจะพิจารณาด้านเทคนิคงานก่อสร้างของสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 มีความเป็นไปได้จะพิจารณาได้เสร็จในวันนี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เพื่อให้ความเห็นชอบ เพื่อให้สามารถเปิดซองราคาได้ โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ต้นเดือน พ.ค.นี้
แต่เนื่องจากทั้งสองสัญญา มีผู้ยื่นประมูล 3 บริษัทเหมือนกัน ได้แก่ 1. S.U. Joint Venture ซึ่งประกอบด้วย บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น(UNIQ) 2.บมจ. ช.การช่าง (CK) 3.บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD)
และจากการตรวจสอบคุณสมบัตืเบื้องต้น พบว่า S.U. Joint Venture กับ CK มีสิทธิดำเนินโครงการได้เพียงสัญญาเดียว เพราะมีทุนจดทะเบียนไม่เพียงพอกับการรับงานถึงสองสัญญาพร้อมกัน ขณะที่ ITD สามารถรับงานได้สองสัญญา
ฉะนั้น หากเปิดซองราคาสัญญาที่หนึ่งแล้วปรากฎว่า S.U. Joint Venture หรือ CK เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ก็ต้องดำเนินขั้นตอนจนจบกระบวนการคือลงนามสัญญา ก่อนที่จะเปิดซองราคาสัญญาที่สองต่อไป ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามทีโออาร์ที่ได้กำหนดไว้แต่ต้น
แต่หากสัญญาที่ 1 ITD เสนอราคาต่ำสุด ก็สามารถเปิดซองราคาสัญญาที่ 2 ได้ทันที
"ตอนแรกเราก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดแบบนี้ แต่ดูจากเหตุและผลแล้ว เพราะถ้าหากสัญญา 1 เขาเบี้ยว ซึ่งมีโอกาส โดยสมมติหาก ช.การช่างได้สัญญาที่ 1 จะหมดสิทธิยื่นซองราคาในสัญญาที่ 2 แต่จะเป็นอิตาเลียนไทย กับกลุ่มซิโน-ไทย มีสิทธิยื่นราคาในสัญญาที่ 2 " นายประจักษ์ กล่าว
แม้ว่าสัญญาที่ 2 อาจจะดำเนินการได้ช้ากว่าสัญญาที่ 1 แต่เนื่องจากเป็นงานโยธา ก็สามารถเร่งงานก่อสร้างให้เร็วชึ้นมาได้
ทั้งนี้ คาดเบื้องต้นจะมีการเซ็นสัญญาทั้ง 2 สัญญาได้ประมาณเดือน ก.ค. 54 หลังจากเปิดซองราคา และนำเสนอให้ไจก้าเห็นชอบอีกครั้ง จากนั้นเจรจาร่างสัญญาส่งให้อัยการสูงสุดตรวจสอบก่อนจึงจะเซ็นสัญญาได้
"คณะกรรมการต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งสัญญา 1 และ 2 โดยเฉพาะสัญญาที่ 3 เพราะเป็นระบบราง เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เนื่องจากเป็นการ Bid นานาชาติ ถ้าตัดสินเขาตกแล้วเราต้องตอบเขาได้ว่าเพราะอะไร"รองผู้ว่าการ รฟท. กล่าว
อนึ่ง โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต มีมูลค่าโครงการ 69,305 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 สัญญา โดยสัญญาที่ 1 เป็นงานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและอาคารซ่อมบำรุง มูลค่า 28,000 ล้านบาท, สัญญาที่ 2 เป็นงานโยธาสำหรับทางรถไฟช่วงบางซื่อ - รังสิต ระยะทาง 21 กิโลเมตร มูลค่า 18,000 ล้านบาท และ สัญญาที่ 3 เป็นงานระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้า (บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) มูลค่า 26,272 ล้านบาท