นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์และการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ธนาคารมั่นใจว่าปี 54 สินเชื่อจะเติบโต 20% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้ไตรมาส 1/54 สินเชื่อจะโต 18.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 3.8% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าคาดเล็กน้อย เนื่องจากมีการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อทั้ง SME, Corporate และรายย่อยค่อนข้างมาก
ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) สิ้นปี 54 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยจากสิ้นไตรมาส 1/54 ที่อยู่ในระดับ 2.7% เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก อาจทำให้ NPL เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายไว้ที่ 3.9% จากไตรมาส 1/54 ที่อยู่ในระดับ 3.8%
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์และการเงิน CIMBT กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารจะรุกการปล่อยสินเชื่อ SME และสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น เนื่องจากยังมีช่องที่จะขยายสินเชื่อได้อีก แม้จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งการปล่อยสินเชื่อ 2 กลุ่มนี้ได้มากจะทำให้ NIM ของธนาคารเติบโตขึ้นด้วย ขณะที่สินเชื่อ Corporate เป็นกลุ่มที่มาเร็วไปเร็ว
ในไตรมาส 1/54 พบว่า สัดส่วนสินเชื่อ SME เพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 21% สินเชื่อรายย่อย เพิ่มขึ้นจาก 27% เป็น 29% ขณะที่สินเชื่อ Corporate ลดลงจาก 43% เหลือ 41% และธนาคารวางเป้าหมายที่จะให้สัดส่วนสินเชื่อทั้ง 3 กลุ่ม อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ประมาณ 33%
"ช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา พบว่าสินเชื่อ SME โตได้ดี และเราพยายามปรับเน้นลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งมองว่าคนยังต้องมีการจับจ่ายใช้สอย ยังมีดีมานด์ในกลุ่มนี้อยู่ ซึ่งสินเชื่อ 2 กลุ่มนี้ ถ้าเราได้แล้วก็จะติดไปอีกนาน ส่วน Corporate มองว่ามาเร็วไปเร็ว"รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์และการเงิน CIMBT กล่าว
และในวันพรุ่งนี้ ธนาคารจะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติออกหุ้นกู้ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการจัดการเงินกองทุน และการออก Structured Product ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อออก Structured Product ที่คาดว่าจะออกได้ภายในไตรมาส 2/54 แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับวงเงินและรูปแบบของตราสารดังกล่าวได้
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า แผนการนำ CIMB กรุ๊ปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น ขณะนี้ติดปัญหาเรื่องเงื่อนไขภาษี ซึ่งแม้ว่าจะผ่านการพิจารณาของกรมสรรพากรและเรื่องอยู่ที่กระทรวงการคลังแล้ว แต่ยังต้องนำเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่ปีนี้จะมีการเลือกตั้งใหม่ มีสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่และเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ จึงยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถนำเสนอเข้าสู่สภาฯได้เมื่อใด
"ถือว่าเป็นปัจจัยอยู่นอกเหนือการควบคุม แต่ความล่าช้าของการนำ CIMB กรุ๊ปเข้าตลาดฯก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินธุรกิจของธนาคารแต่อย่างใด"นายณรงค์ชัย กล่าว