นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) คาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 1/54 จะสูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 10,470 ล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณขายเพิ่มขึ้นเป็น 2.7 แสนบาร์เรล/วัน จากไตรมาส 1/53 มีปริมาณขาย 2.57 แสนบาร์เรล/วัน
อีกทั้งราคาขายปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน จากที่ประเมินไว้ว่าจะมีราคาเฉลี่ย 80 เหรียญ/บาร์เรล มีแนวโน้มจะปรับประมาณการราคาน้ำมันในปีนี้เฉลี่ยเป็น 90-100 เหรียญ/บาร์เรล
"ไตรมาส 1 ปีนี้ กำไรน่าจะดีขึ้นกว่าไตรมาส 1 ปีที่แล้ว ภาพรวมไม่เลวเลย"นายอนนต์ กล่าว
นอกจากนี้ ในครึ่งหลังปี 54 จะบันทึกเงินประกันชดเชยจากโครงการมอนทาราในออสเตรเลีย ที่เหลืออีกกว่า 100 เหรียญสหรัฐจากปีที่แล้วบันทึกไปแล้ว 84 ล้านหรียญสหรัฐ
*เล็งลงทุนใหม่ในสหรัฐ-อเมริกาใต้
นายอนนต์ กล่าวว่า บริษัทมองหาโอกาสขยายการลงทุนในสหรัฐ และแถบอเมริกาใต้ เช่น บราซิล โดยจะเน้นแหล่งปิโตรเลียมที่ผลิตอยู่แล้ว หรือใกล้จะเริ่มผลิต เพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัทให้มีความมั่นคงมากขึ้นในระยะอันใกล้ ขณะเดียวกันก็มองหาแหล่งสำรวจใหม่ ๆ เพิ่มเติมด้วย เพื่อให้พอร์ตลงทุนบริษัทมีความสมดุลมากขึ้น จากปัจจุบันยอมรับว่าไม่ค่อยสมดุลนัก
นอกจากนี้ เพื่อเป็นไปตามเป้าหมายช่วง 10 ปี หรือภายในปี 63 ที่จะมีปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มเป็น 9 แสนบาร์เรล/วัน จากปี 54 ที่มีเป้าหมายปริมาณขาย 2.73 แสนบาร์เรล/วัน และเพิ่มปริมาณสำรองอีก 3 เท่า จากสิ้นปี 53 อยู่ที่ 1,043 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
ปัจจุบันและอนาคตตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้แล้ว บริษัทจะสามารถผลิตและขายปิโตรเลียมได้เต็มที่ประมาณ 4.5 แสนบาร์เรล/วัน หรือครึ่งหนึ่งของเป้าหมาย 10 ปี จากโครงการปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่ และใกล้จะเปิดดำเนินการ ดังนั้น ปริมาณปิโตรเลียมที่เหลืออีก 4.5 แสนบาร์เรล/วัน จะต้องนำมาจากแหล่งผลิตใหม่และแหล่งที่สำรวจอยู่
ทั้งนี้ จะมาจากแหล่ง KDD ในแคนาดา คาดว่าใน 5 ปีข้างหน้า(ปี 59)จะผลิตได้ประมาณ 8 หมื่น-1 แสนบาร์เรล/วัน เช่น ในพื้นที่เลสเมอร์(Leismer)ในปีนี้คาดว่าจะผลิตได้ 8 พันบาร์เรล/วัน และจะเพิ่มเป็น 2 หมื่นบาร์เรล/วันในปีหน้า และในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 4 หมื่นบาร์เรล/วัน ส่วนพื้นที่คอร์นเนอร์(Corner)จะผลิต 4 หมื่นบาร์เรล/วัน ในอีก 5 ปีข้างหน้า
"เรามองหาโอกาสลงทุนต่อเนื่องต่อจากแคนาดาที่มีปริมาณสำรองน้ำมันมาก อาจขยายผลเข้าไปสหรัฐ อเมริกาใต้ อย่างบราซิล...เราต้องทำการบ้านเยอะ เราคิดว่าเราเข้าไปต้องโต เล่นเป็น แข่งขันคนอื่นได้ หรือไม่ก็หาพาร์ทเนอร์ เราจะสามารถมีโอกาส"นายอนนต์ กล่าว
นายอนนต์ กล่าวย้ำว่า แหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญของบริษัท ได้แก่ ในไทย, พม่า, ออสเตรเลีย และ แคนาดา ส่วนโครงการที่อยุ่ระหว่างสำรวจกว่า 20 โครงการ ต้องมาทบทวนดูว่าแหล่งใดมีศักยภาพหรือมีโอกาสเติบโตหรือไม่ หรือมีการลงทุนสูงมากไปหรือไม่ ถ้าแหล่งใดไม่สอดคล้องหรือไม่ใช่เป้าหมายของบริษัท หรือแหล่งใดไม่มีอนาคต บริษัทจะตัดออก และหาแหล่งใหม่มาเพิ่มเติม
ทั้งนี้ บริษัทได้ตั้งเป้าหมายขึ้นไปอยู่เป็น 1 ใน 5 บริษัทชั้นนำของบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในภูมิภาคเอเชีย รองจากจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และ เกาหลี จากปัจจุบันอยู่ใน 10 อันดับแรก
ปัจจุบัน บริษัทได้ลงทุนและดำเนินการในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 43 โครงการใน 13 ประเทศทั่วโลก