ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร BLS ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 20, 2011 08:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงเทพ (BBL) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดและยังเป็นผู้ให้การสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและธุรกิจแก่บริษัท

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับของบริษัทในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจ ตลอดจนคณะผู้บริหารที่มีความสามารถซึ่งมีแนวทางการบริหารงานที่ระมัดระวัง สภาพคล่องและฐานะเงินทุนที่แข็งแกร่ง รวมถึงศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายและความสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ที่กลุ่มธนาคารกรุงเทพมีอยู่อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม สภาพการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง ความผันผวนของตลาดหุ้นไทย และผลกระทบจากการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2555 ยังคงเป็นข้อจำกัดที่สะท้อนอยู่ในการจัดอันดับเครดิตของบริษัทในครั้งนี้ด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งทางธุรกิจของบริษัทและการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพในการสร้างระดับผลกำไรที่เพียงพอและรักษาปริมาณธุรกรรมเอาไว้ได้ภายใต้แรงกดดันในการตั้งราคาและสภาพการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อกำหนดการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ใกล้เข้ามา

นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงนโยบายที่ระมัดระวังของบริษัทในการลงทุนและการให้สินเชื่อเพื่อการซื้อหลักทรัพย์ ตลอดจนความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะกระจายแหล่งที่มาของรายได้และขยายฐานลูกค้ารายย่อยของบริษัทด้วย

ทริสเรทติ้งรายงานว่า การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ภายหลังการบังคับใช้อัตราค่าธรรมเนียมแบบขั้นบันไดตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 ที่ผ่านมามิได้ส่งผลให้ บล. บัวหลวงอยู่ในสภาวะที่เสียเปรียบคู่แข่งในตลาดแต่อย่างใด แม้ว่าอัตราค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยของบริษัทจะลดลงจาก 0.22% ในปี 2552 เหลือ 0.20% ในปี 2553 แต่บริษัทก็ยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่สูงกว่าส่วนแบ่งทางการตลาดที่คิดจากมูลค่าซื้อขายเอาไว้ โดยบริษัทมีส่วนแบ่งรายได้ดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นจาก 4.4% ในปี 2552 เป็น 4.8% ในปี 2553 ในขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดที่คิดจากมูลค่าซื้อขายเพิ่มขึ้นจาก 4.1% ในปี 2552 เป็น 4.4% ในปี 2553

ทั้งนี้ รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2553 เติบโตขึ้นถึง 37% มาอยู่ที่ 1,060 ล้านบาท สอดคล้องกับมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์แห่งที่ 2 (MAI) ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์มาอยู่ที่ระดับ 29 พันล้านบาทต่อวัน คิดเป็นอัตราเติบโต 59% เมื่อเทียบกับปี 2552 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในอันดับ 9 จากจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ 35 รายที่ยังดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อยู่ในปี 2553

รายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจของ BLS ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นอย่างมาก ถือได้ว่าบริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดในด้านนี้โดยมีพื้นฐานมาจากผลงานในอดีตที่ได้รับการยอมรับและฐานลูกค้าของกลุ่มธนาคารกรุงเทพเป็นสำคัญ ส่วนรายได้จากธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคลซึ่งรวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็เติบโตขึ้น 13% มาอยู่ที่ 32 ล้านบาทในปี 2553 ทว่ารายได้ที่สม่ำเสมอจากธุรกิจจัดการกองทุนนี้ยังคิดเป็นสัดส่วนต่ำกว่า 2% ของรายได้รวม เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งบางรายซึ่งมีรายได้จากธุรกิจจัดการกองทุนในสัดส่วนที่สูงกว่านี้แล้ว บริษัทอาจมีความเสียเปรียบอยู่บ้างในแง่ของความผันผวนของรายได้รวมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่โดยรวมแล้วแหล่งที่มาของรายได้ของบริษัทถือว่ามีการกระจายตัวในระดับหนึ่ง

เนื่องจาก BLS มีนโยบายการลงทุนที่จำกัดอยู่เพียงการหาผลตอบแทนแบบ Arbitrage และการป้องกันความเสี่ยงจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เท่านั้น บริษัทจึงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ที่อยู่ในวงจำกัด ส่วนความเสี่ยงด้านเครดิตจากการให้สินเชื่อของบริษัทก็อยู่ในระดับปานกลาง โดยบริษัทมียอดการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ณ สิ้นปี 2552 อยู่ที่ 226 ล้านบาท และ ณ สิ้นปี 2553 อยู่ที่ 415 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1.7% และ 1.5% ของยอดการให้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์รวมทั้งอุตสาหกรรม ตามลำดับ

ในเดือนกันยายน 2553 บริษัทได้ออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์เป็นครั้งแรกและสามารถสร้างผลตอบแทนจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ในปี 2553 ที่สูงถึง 118 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกำไรที่เกี่ยวข้องกับการออกและการทำตลาดใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 จนถึงสิ้นปี อย่างไรก็ตาม การทำกำไรที่สูงมากขนาดนี้ขึ้นอยู่กับสภาพตลาดเฉพาะตัวในขณะนั้น ๆ และคงไม่สามารถคาดหมายให้บริษัททำกำไรในลักษณะนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตลาดนี้มีการพัฒนามากขึ้นต่อไปในอนาคต

การเป็นบริษัทในกลุ่มธนาคารกรุงเทพให้ประโยชน์แก่ BLS หลายประการนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์จากการได้ใช้ชื่อ “บัวหลวง" ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ประมาณ 10% ของบัญชีลูกค้าซื้อขายหลักทรัพย์รายย่อยที่บริษัทได้เพิ่มมาในแต่ละปีล้วนเป็นลูกค้าที่ผ่านการแนะนำจากธนาคารกรุงเทพภายใต้สัญญา Introducing Agent ที่ทำไว้ร่วมกันตั้งแต่ปี 2550 ความสัมพันธ์ที่ธนาคารกรุงเทพมีต่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มากมายยังช่วยให้บริษัทมีความได้เปรียบในการให้บริการลูกค้ากลุ่มสถาบันในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ด้วย เช่น การจัดกิจกรรมให้ลูกค้ามีโอกาสเข้าพบผู้บริหารของบริษัทใหญ่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มธนาคารกรุงเทพเป็นกรณีพิเศษ เป็นต้น นอกจากนี้ ในบางกรณีความสัมพันธ์ดังกล่าวยังช่วยให้บริษัทได้ลูกค้าด้านวาณิชธนกิจเพิ่มด้วย ธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ให้สินเชื่อหลักแก่บริษัทในสัดส่วนกว่า 95% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมดของบริษัท

ในปี 2553 BLS ทำกำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้นจาก 224 ล้านบาทในปี 2552 มาอยู่ที่ 491 ล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปอยู่ที่ระดับ 45% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนดไว้เป็นอย่างมาก จำนวนพนักงานของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 544 คนจาก 505 คนในปี 2552 ในขณะที่จำนวนสาขายังคงอยู่ที่ 24 สาขาเท่ากับในปี 2552


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ