NNCL เผยมีลูกค้ารายใหญ่จากญี่ปุ่นเจรจาซื้อที่ดินมูลค่า 400-500 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 21, 2011 13:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บมจ.นวนคร (NNCL) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้ารายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่นที่สนใจซื้อที่ดิน มูลค่า 400-500 ล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดหวังว่าจะได้ลูกค้ารายนี้ นอกจากนี้ยังมีลูกค้าที่อยู่ระหว่างการเจรจากอีก 5-6 ราย มูลค่า 100 ล้านบาท คาดว่าจะมีข้อสรุปและสามารถเซ็นสัญญาได้ภายใน 2 เดือนนี้ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิคส์ และอาหารที่ได้ชะลอการเซ็นสัญญาไว้ก่อนหน้านี้ หลังเกิดเหตุภัยพิบัติในญี่ปุ่น นอกจากนี้บริษัทยังมีโอกาสที่จะได้ลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้น จากการย้ายฐานการผลิตในประเทศญี่ปุ่นมาลงทุนในประเทศไทย

และจากปัจจัยดังกล่าว จะผลักดันให้ยอดขายที่ดินของบริษัทในปี 54 จะเติบโต 10% จากปีก่อนที่มียอดขายที่ดินประมาณ 500 ไร่ และยังมี backlog จากปีก่อนที่จะรับรู้รายได้ในปีนี้ จำนวน 200 ล้านบาท และลูกค้าที่ได้เซ็นสัญญาซื้อที่ดินแล้ว จำนวน 300 ล้านบาท

"จากปัญหาภัยพิบัติในญี่ปุ่น ทำให้ภาพของไทยดีขึ้นและกลายเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการที่จะย้ายมาลงทุนในไทย ซึ่งจะส่งผลต่อเราที่จะได้รับความสนใจด้วยเช่นกัน และทำให้เรามองว่ามีความเป็นไปได้ที่การขายที่ดินในปีนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ" นายนิพิฐ กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการที่มีลูกค้าให้ความสนใจซื้อที่ดินจำนวนมาก ส่งผลให้บริษัทมีแผนที่จะขยายเฟส 2 การขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.นครราชสีมา เพิ่มอีก 600-700 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ในการปรับพื้นที่หน้าดิน ซึ่งขณะนี้มีลูกค้าให้ความสนใจเจรจาติดต่อซื้อที่ดินแล้ว ทั้งนี้ สัดส่วนลูกค้าซื้อที่ดินของบริษัท ส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น 80-90% ส่วนที่เหลือเป็นลูกค้าจากประเทศจีนและคนไทย

สำหรับรายได้ด้านสาธารณูปโภคที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 46-47% คาดว่าในปลายปี 55 จะเพิ่มสัดส่วนเป็นมากกว่า 50% หลังจากที่โรงผลิตน้ำก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน มี.ค.55 ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการผลิตน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 หมื่นลูกบาศก์เมตร/วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.5 หมื่นลูกบาศก์เมตร/วัน และยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้บริษัทในอนาคตด้วย ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรและลดความเสี่ยงจากธุรกิจการขายที่ดินเพียงอย่างเดียว

ขณะที่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP ที่ได้มีการร่วมทุนกับ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) และ บมจ.ปตท. (PTT) เพื่อผลิตไฟฟ้าขนาด 100 เมกกะวัตต์ ขณะนี้ที่ปรึกษาทางการเงินอยู่ระหว่างการออกร่าง TOR คาดว่าจะเซ็นสัญญาร่วมทุนได้ภายในเดือน พ.ค.54 โดยบริษัทถือห้นในสัดส่วน 30% คิดเป็นเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท จากมูลค่าโครงการประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนสร้างโรงฟฟ้า จะช่วยสร้างรายได้ให้บริษัทในอนาคได้เพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ