IRPC สานแผนพัฒนาท่าเรือชูระบบ“iPort"เปิดช่องทางทำธุรกรรมผ่านออนไลน์

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 22, 2011 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC)เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ล่าสุด“iPort"หรือ IRPC Intelligent port service สำหรับการให้บริการท่าเรือ ไออาร์พีซี จังหวัดระยอง ผ่านระบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมของลูกค้าให้ได้รับบริการที่รวดเร็ว คล่องตัว มีประสิทธิภาพและลดการใช้ทรัพยากรบุคคลและกระดาษในการดำเนินการ

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC กล่าวว่า ระบบ “iPort" ถือเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคตที่ ไออาร์พีซี คิดค้นขึ้นเพื่อมุ่งให้บริการลูกค้าที่ใช้บริการท่าเรือของบริษัทฯ ในการทำธุรกรรมหลักๆ ที่ประกอบด้วย iBooking ระบบการจองท่าเรือที่ลูกค้าสามารถจองและยืนยันการใช้ท่าเรือได้ด้วยตนเอง, iTracking ลูกค้าสามารถตรวจสอบสถานะของการจองและสถานะของเรือได้แบบครบวงจร, iBanking เชื่อมโยงระบบ Online Banking ของธนาคาร เพื่อรองรับการชำระเงินผ่านระบบ e-Payment และ iMobile Solution อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการใช้บริการผ่านระบบออนไลน์ และรองรับการใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ และ PDA

ท่าเรือ“ไออาร์พีซี"เป็นท่าเรือน้ำลึกที่สุดของประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่บนทำเลใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ด้วยระยะทางขนส่งสินค้าเพียง 10 กิโลเมตร มีจุดเด่นที่เรือบรรทุกสินค้าสามารถเข้าเทียบท่าพร้อมกันได้ทั้ง 2 ด้าน ด้วยการออกแบบให้มีโครงสร้างเป็นรูปตัว U

ประกอบด้วย 2 ท่าด้วยกันคือ ท่าที่ 1 ท่าเรือ LCT (Liquid and Chemical Terminal) เป็นท่าเรือที่รองรับการขนถ่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ปิโตรเลียมเหลวและก๊าซ โดยตัวท่ามีความยาวทั้งสิ้น 1,623 เมตร แบ่งออกเป็น 6 ท่าย่อย มีร่องน้ำลึกตั้งแต่ 6-19 เมตร สามารถรองรับเรือขนาด 1,000 - 250,000 DWT (Dead Weight ton) ซึ่งท่าเรือ LCT แห่งนี้ สามารถรองรับการนำเข้า-ส่งออกให้กับลูกค้าผู้ใช้บริการถังเก็บผลิตภัณฑ์ต่างๆ และลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมไออาร์พีซี โดยปี 53 มีเรือสินค้าเข้าเทียบท่ามากกว่า 2,500 ลำ มีปริมาณสินค้าผ่านท่ามากถึง 15 ล้านตันต่อปี

และท่าที่ 2 ท่าเรือ BCT (Bulk and container terminal) ซึ่งให้บริการขนถ่ายสินค้าทั่วไป สินค้าเทกอง และตู้คอนเทนเนอร์ โดยสินค้าที่ให้บริการขนถ่ายได้แก่ สินค้าเหล็ก สินค้าทางการเกษตร แร่ และอื่นๆ ตัวท่ามีความยาวทั้งสิ้น 900 เมตร กว้าง 48 เมตร แบ่งออกเป็น 6 ท่าย่อย มีร่องน้ำลึกตั้งแต่ 5-17 เมตร สามารถรองรับเรือขนาด 800-150,000 DWT ซึ่งในปี 2553 มีปริมาณสินค้าผ่านท่ามากกว่า 2 ล้านตัน โดยไออาร์พีซี มีแผนจะพัฒนาการให้บริการของท่าเรือ BCT ด้วยการติดตั้ง Mobile Harbor Crane และเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการให้บริการลูกค้า

ท่าเรือ ไออาร์พีซี ยังมีบริการอื่นๆ ได้แก่ การให้บริการการขายน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเรือสินค้าการให้บริการน้ำจืดและการให้บริการลานกองสินค้าและโกดังเก็บสินค้า ซึ่งจากความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

“iPort" นี้ เป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี Phoenix Project ที่ใช้ขับเคลื่อน ไออาร์พีซี ให้บรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นบริษัทปิโตรเคมีครบวงจรชั้นนำของเอเชียในปี 57 โดยการนำสินทรัพย์ซึ่งมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ที่มีอยู่ มาพัฒนาเพื่อสร้างให้เกิดรายได้ ภายใต้โครงสร้าง 4 กลุ่มธุรกิจหลักของบริษัทประกอบด้วย ธุรกิจปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ท่าเรือ และธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สิน"นายไพรินทร์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ