บมจ.ช.การช่าง(CK) เชื่อว่าในงวดปี 54 บริษัทจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้สูงกว่างวดปีก่อนที่จ่ายในอัตรา 0.10 บาท/หุ้น เนื่องจากบริษัทมั่นใจว่าผลประกอบการในปีนี้จะออกมาดีกว่าปี 53 เนื่องจากได้รับงานใหม่เข้ามามาก ที่มีงานรอเซ็นสัญญากว่า 8 หมื่นล้านบาท จากที่มีงานในมือ (backlog) อยู่กว่า 3 หมื่นล้านบาท จะทำให้งานในมือเพิ่มเป็นกว่า 1 แสนล้านบาท
รวมทั้ง คาดว่ากำไรในงบการเงินเฉพาะกิจการจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 374 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.23 บาทต่อหุ้น จากการที่อัตรากำไรขั้นต้นของงานในมือสูงขึ้นที่มาจากงานใหม่ โดยคาดว่าในปีนี้จะมีอัตรากำไรขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 10% ทั้งนี้ บริษัทพิจารณาจ่ายเงินปันผลจากงบการเงินเฉพาะกิจการ ขณะที่งบการเงินรวมในปี 53 ขาดทุน 335 ล้านบาท
ขณะที่รายได้จากงานรับเหมาก่อสร้างในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่มี 8.5 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะรับรู้งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญา 1 ทั้งนี้โครงการรายได้รวมจะมาจากรายได้จากรับเหมาก่อสร้าง 85% และ 15% มาจากรับรู้กำไรจากบริษัทย่อย
"มั่นใจผลประกอบการปีนี้ที่เข้ามาจะดีกว่าปีที่ผ่านมา ผมคาดว่าจะเกินเท่าตัว ยิ่งได้เซ็นสัญญาโครงการไซยะบุรีก็จะสูงกว่านั้นอีก"นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ CK กล่าว
ทั้งนี้ งานขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาในเดือนพ.ค.นี้ คือโครงการไซยะบุรี ซึ่งขณะนี้รัฐบาลลาวยังไม่ได้มีการสั่งยกเลิกหรือชะลอโครงการออกไป แม้ว่าจะมีกลุ่มออกมาต่อต้าน จึงเชื่อว่าโครงการจะเดินไปได้ตามแผนงาน
"รัฐบาลลาวได้สั่งเดินหน้าแล้ว รอหนังสือมายังที่ผู้ลงทุน คาดว่ารัฐบาลลาวจะส่งหนังสือแจ้งมาที่เราประมาณ 1-2 สัปดาห์....จะมีการซ็นสัญญา ไม่เกิน 30 วันนี้"นายปลิว กล่าว
สัญญาดังกล่าวจะเป็นสัญญาจ้างรับเหมาก่อสร้างโครงการไซบะบุรี มูลค่างาน 7.6 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี , สัญญากู้เงินจำนวน 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งมี 4 ธนาคารขนาดใหญ่เป็นผู้ปล่อยกู้ ได้แก่ ธ.กรุงเทพ ธ.กรุงไทย ธ.กสิกรไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์ รวมทั้ง สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
โครงการไซยะบุรี มีมูลค่าโครงการ 1.1 แสนล้านบาท เงินทุนจะนำจากส่วนทุนของบริษัท ไซยะบุรีเพาเวอร์ จำกัด จำนวน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีทุนชำระแล้ว 1 พันล้านบาท จะทยอยเรียกเพิ่มทุนให้ครบภายใน 8 ปี ซึ่ง CK ได้ลงทุนตามสัดส่วนที่ถือหุ้น 30% และผู้ถือหุ้นรายอื่น อีกส่วนมาจากเงินกู้ และโครงการนี้มีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) 12.5%
นายปลิว กล่าวว่า คณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขงที่มี 4 ประเทศที่เป็นสมาชิกได้มีการไปรับฟังควมคิดเห็นในแต่ละประเทศของต้วเอง และให้มีระเบียบปฏิบัติให้ประเทศลาว และผู้พัฒนาโครงการลดผลกระทบให้น้อยที่สุด โดยข้อเท็จจริง โครงการไซยะบุรีไม่ได้สร้างเขื่อนเก็บกักน้ำอย่างทีบางกลุ่มเข้าใจ แต่เป็นฝายทดน้ำ โดยบริษัทในฐานะผู้รับเหมาโครงการนี้ได้ออกแบบสร้างทางปลาผ่าน , ทางเรือผ่าน และ ทางระบายตะกอน รวมใช้เงินลงทุน 7-8 พันล้านบาท อีกทั้งมีค่าชดเชยการอพยพราษฎร 242 ครัวเรือนที่อยู่ใกล้โครงการ ทั้งหมดรวมค่าใช้จ่ายไว้ในมูลค่างานก่อสร้างแล้ว
ทั้งนี้ บริษัท ไซยะบุรี เพาเวอร์ จำกัด มู้ร่วมทุนได้แก่ CK ถือหุ้น 30%, บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด (บ.ย่อย ของปตท.) ลงทุน 25% , รัฐบาลลาว 20%, บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) 12.5% ,บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) 7.5% ที่เหลือ 5% เป็นนักลงทุนรายย่อย
นอกจากนี้ CK คาดว่าในปลายปี 54 จะสามารถเซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการน้ำบากในลาวได้ มูลค่างาน 1.4 หมื่นล้านบาท โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อขายไฟฟ้า อีกทั้งในปีนี้จะมีการประมูลรถไฟฟ้าอีก 3 สาย ได้แก่ สายสีเขียวอ่อนที่จะยื่นประมูลในเดือนพ.ค. มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท สายสีเขียวเข้ม 2.5 หมื่นล้านบาท และ สายสีชมพู 3 หมื่นล้านบาท
*เชื่อ 8 ปีนี้จะไม่เพิ่มทุน
นายปลิว กล่าวว่า ณ วันนี้ บริษัทประเมินว่าจะไม่ต้องเพิ่มทุน เพราะการลงทุนในโครงการไซยะบุรีมีเวลาทยอยลงทุนไปนาน 8 ปี ทำให้มีเวลาบริหารจัดการได้ โดยบริษัทจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 9 พันล้านบาท ในบริษัท ไซยะบุรี เพาเวอร์ จำกัด ภายใน 8 ปีข้างหน้า
"ณ วันนี้ เราคิดว่าจะไม่ต้องเพิ่มทุนไปอีก 8 ปี" นายปลิว กล่าว
ด้านนายประเสริฐ มริตตนะพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสกลุ่มงานบริหาร CK กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า บริษัทจะเสนอขายหุ้นกู้ วงเงิน 2 พันล้านบาท อายุ 4 ปี เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดชำระในเดือนเม.ย. 54 จำนวน 2 พันล้านบาท ซึ่งเงื่อนไขของหุ้นกู้ชุดใหม่นี้ได้ขยายอัตราหนี้สินต่อทุนเป็น 3 เท่าจากเดิมกำหนดเงื่อนไขไม่ให้เกิน 2.5 เท่า ซึ่งปัจจุบันมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ถึง 2.5 เท่า โดยปัจจุบันบริษัทมี ต้นทุนการเงินของบริษัท อยู่ที่ MLR -1.5-2.0% ส่วนหุ้นกู้ มีอัตราดอกเบี้ย 5%เศษ
นายปลิว กล่าวว่า บริษัทยังไม่ได้พิจารณาโครงการในต่างประเทศอื่นนอกเหนือจากลาว เพราะโครงการที่ไปลงทุนต้องคุ้มค่าการลงทุนและบริหารความเสี่ยงได้ ปัจจุบันในลาว บริษัทมีโครงการเขื่อนน้ำงึม 2 ซึ่งได้จ่ายไฟฟ้าแล้ว คาดว่าจะคุ้มทุนใน 12 ปีข้างหน้า โดยบริหารโครงการภายใต้บริษัท เซาท์อีสต์เอเชีย เอ็นเนอยี่ จำกัด(SEAN)