SCC เผยปี 54 ยอดขายโตตามกำลังผลิตปิโตรฯ 40% แนวโน้มสเปรดลดลงใน Q2/54

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 27, 2011 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและการลงทุน บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC)เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทมีปริมาณขายปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นประมาณ 40% ตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่โรงโอเลฟินส์มาบตาพุดแล้วเสร็จตั้งแต่ครึ่งปีหลังปี 53 ซึ่งขณะนี้เดินเครื่องแล้ว 85% และภายหลังที่โรงงานปิโตรเคมีที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดาวน์สตรีมแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 2-3/54 การเดินกำลังการผลิตจะเต็ม 100% ในไตรมาส 4/54 ทั้งที่ระยองโอเลฟินส์ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้กำลังการผลิต 95% และมาบตาพุดโอเลฟินส์

แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในไตรมาส 2/54 มีทิศทางลดลงตามปริมาณการผลิตที่เพิ่มเข้ามาในตลาดและความต้องการใช้ลดลง โดยเฉพาะการที่ประเทศจีนชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังมีปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับต้นทุนวัตถุดิบในไตรมาส 2/54 ลดลงจากไตรมาส 1/54 ที่มีส่วนต่างอยู่ที่ที่ 450 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน

“ตอนนี้แนวโน้มราคาผลิตภัณฑ์เริ่มลดลง สเปรดแคบลงต่อเนื่องเข้าเดือน เม.ย.สเปรดต่ำกว่า 400 เหรียญฯ แล้วเพราะความต้องการในตลาดโลกลดลงหลังจีนเริ่มชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งผลให้ไตรมาส 2/54 ผลประกอบการลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส1/54 และปีนี้กำลังการผลิตจะเข้ามาอีก 6 ล้านตันในตลาดโลก คงเป็นเรื่องยากที่ทิศทางราคาและสเปรดยังอยู่ในระดับสูง"นายเชาวลิต กล่าว

สำหรับภาพรวมการลงทุนบริษัทยังเร่งขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งธุรกิจที่สนใจยังคงเป็นกลุ่มวัสดุก่อสร้าง กระดาษ และซีเมนต์ โดยภายหลังการตัดขายหุ้น บมจ.ปตท.เคมีเคิล(PTTCH)ออกไป ทำให้บริษัทมีเงินสดที่พร้อมสำหรับลงทุนจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่มีแนวคิดที่จะขายหุ้น PTTCH ที่เหลือ 4% แม้ว่ากำลังจะมีการควบรวมกิจการระหว่าง PTTCH และ บมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น(PTTAR) เพราะมองว่าเป็นการลงทุนอีกช่องทางหนึ่งของบริษัท

ทั้งนี้ บริษัทยังคงแผนการลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวน 1 แสนล้านบาทในปี 54-58 แต่สำหรับโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในประเทศเวียดนามยังคงไม่มีความคืบหน้า หลังจากเวียดนามมีปัญหาเรื่องค่าเงิน และโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่จำเป็นต้องมีโปรเจ็กซ์ไฟแนนซ์จากสถาบันการเงิน จึงต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก

ส่วนโรงซีเมนต์ในประเทศกัมพูชาบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ปะทะกันตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาแต่อย่างใดเนื่องจากโรงปูนซีเมนต์ตั้งอยู่ห่างจากชายแดนบริเวณที่มีปัญหา ส่วนการชะลอแผนการขยายกำลังการผลิตของโรงปูนดังกล่าสมีสาเหตุจากความต้องการใช้ในประเทศกัมพูชาไม่ได้เติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ และปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ