ทริสฯจัดเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกัน-คงเครดิตองค์กร BJC ที่ “A+/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 28, 2011 13:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ที่ระดับ “A+" พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A+" เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปใช้ชำระหนี้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

อันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัทด้วยตราสินค้าที่มีชื่อเสียง ตลอดจนลักษณะธุรกิจที่หลากหลาย และความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัทกับพันธมิตรธุรกิจและกลุ่มลูกค้า ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่เข้มแข็ง ความได้เปรียบด้านต้นทุนจากการประหยัดจากขนาด และคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งนี้ ความกังวลในอนาคตได้แก่ภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากบริษัทเน้นกลยุทธ์การเติบโตในระยะปานกลางโดยการขยายธุรกิจและควบรวมกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาความแข็งแกร่งในการแข่งขันและความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดเอาไว้ได้ โดยการลงทุนหรือการขยายธุรกิจใดใดในอนาคตจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดภาระหนี้เพิ่มขึ้นมากเกินไปและเพื่อรักษาระดับสภาพคล่องให้เพียงพอตลอดเวลา

ทริสเรทติ้งรายงานว่า BJC มีประวัติการประกอบธุรกิจในประเทศไทยที่ยาวนานกว่า 1 ศตวรรษ โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2544 เมื่อกลุ่มบริษัททีซีซี ซึ่งเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนภายใต้การบริหารงานของตระกูลสิริวัฒนภักดีกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท

ปัจจุบันธุรกิจหลักของบริษัทแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มสินค้าและบริการทางอุตสาหกรรม ซึ่งจำหน่ายสินค้าและให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์ การก่อสร้างและวิศวกรรม 2) กลุ่มสินค้าและบริการด้านอุปโภคบริโภค ซึ่งจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค 3) กลุ่มสินค้าและบริการด้านสุขภาพ และด้านเทคนิค ซึ่งเน้นสินค้าด้านเวชภัณฑ์ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สินค้าเคมีภัณฑ์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและอาหาร สินค้าและอุปกรณ์กราฟิก และอุปกรณ์เครื่องเขียน และ 4) ธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ และธุรกิจสารสนเทศ

ในปี 2553 บริษัทมีรายได้ทั้งสิ้น 26,082 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.4% จากปีก่อนซึ่งเกิดจากการเติบโตทางธุรกิจตามปกติและจากการควบรวมกิจการ โดยครึ่งหนึ่งของรายได้รวมมาจากกลุ่มสินค้าและบริการด้านอุตสาหกรรม อีก 31% มาจากรายได้จากสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค และ 17.4% เป็นรายได้จากกลุ่มเวชภัณฑ์รวมกับกลุ่มสินค้าเทคนิค ในขณะที่รายได้ที่เหลือมาจากกลุ่มธุรกิจต่างประเทศและธุรกิจสารสนเทศ

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ธุรกิจของ BJC มีลักษณะที่หลากหลายทั้งในด้านสินค้าและบริการรวมถึงแหล่งรายได้ บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม กระดาษชำระ และขนมขบเคี้ยว โดยกลุ่มสินค้าและบริการทางอุตสาหกรรมได้รับแรงหนุนที่เข้มแข็งจากปริมาณสินค้าจำนวนมากที่ขายอย่างต่อเนื่องให้แก่บริษัทในเครือภายใต้กลุ่มบริษัททีซีซี รายได้จากสินค้าด้านเวชภัณฑ์ ยารักษาโรค เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์สร้างสมดุลให้แก่กลุ่มธุรกิจโดยรวมของบริษัท

ในขณะที่การมีฐานการผลิตขนาดใหญ่ทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด ตลอดจนมีอำนาจต่อรองกับผู้จัดหาวัตถุดิบและผู้จัดจำหน่ายสินค้า อีกทั้งยังมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แม้บริษัทจะเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค แต่การมีตราสินค้าที่แข็งแกร่งก็เป็นปัจจัยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของบริษัทให้มีเหนือคู่แข่ง

ฐานะการเงินของบริษัทยังคงแข็งแกร่งจากการมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ เช่น กระแสเงินสดที่มาจากหลายแหล่ง สภาพคล่องที่เพียงพอ และภาระหนี้ในระดับปานกลาง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อยอดขายในปี 2553 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 16% เทียบกับ 13% ในปี 2552 อันเป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบในการผลิตเครื่องแก้วที่ลดลงเป็นหลัก ตลอดจนอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ดีขึ้นจากความต้องการที่มีมากขึ้นในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และความมีประสิทธิภาพในการผลิต

อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรจากกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคกลับลดลงเนื่องจากราคาวัตถุดิบ เช่น เยื่อกระดาษ น้ำตาล และน้ำมันปาล์มปรับตัวสูงขึ้น เมื่อพิจารณาจากสภาพการแข่งขันที่รุนแรงและราคาต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นแล้วคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะได้รับแรงกดดันในอนาคต

บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานต่อปีในระดับคงตัวอยู่ระหว่าง 2,300-2,600 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2551-2552 และอยู่ที่ 3,871 ล้านบาทในปี 2553 ซึ่งเติบโตราว 50% จากปีก่อนจากธุรกิจแก้วและกระป๋องเป็นสำคัญ อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 43.1% ในปี 2552 เป็น 47.9% ในปี 2553

อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้สินของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนนั้นเพิ่มขึ้นจาก 34.6% ในปี 2552 เป็น 38.9% ในปี 2553 โดยการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้เกิดจากการออกหุ้นกู้ในปี 2553 เพื่อใช้เป็นทุนในการควบรวมกิจการของ Malaya Glass Products Sdn. Bhd. (MGP) ในประเทศมาเลเซีย ฐานะการเงินของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางซึ่งได้รับแรงเสริมจากฐานธุรกิจและความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่เข้มแข็ง

เนื่องจากบริษัทวางเป้าหมายที่จะเป็นผู้กระจายสินค้าในระดับภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบอินโดจีน บริษัทจึงพยายามแสวงหาโอกาสที่จะขยายธุรกิจและควบรวมกิจการ ดังนั้น ในช่วงระยะ 3-5 ปีข้างหน้าจึงคาดว่าระดับภาระหนี้ของบริษัทจะยังไม่ลดลงเมื่อพิจารณาถึงแผนกลยุทธ์ที่จะลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าการขยายธุรกิจในอนาคตจะทำให้ฐานะทางธุรกิจของบริษัทเข้มแข็งขึ้น แต่บริษัทก็จะต้องเผชิญกับความท้าทายในการหาแหล่งเงินทุนและเผชิญกับความเสี่ยงในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดต่างประเทศ ฉะนั้น การเปลี่ยนนโยบายด้านการเงินไปเป็นแบบเชิงรุกมากขึ้นหรือการซื้อกิจการด้วยการก่อหนี้จำนวนมากจึงอาจทำให้ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นและมีผลให้ฐานะการเงินอ่อนแอลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ