บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน(HEMRAJ)ปรับเป้ายอดขายที่ดินในปี 54 เพิ่มเป็น 1.4 พันไร่ จากเดิมที่ตั้งไว้ 1.2 พันไร่ โดยในช่วงไตรมาส 1/54 บริษัทมียอดขาย 318 ไร่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นลูกค้าใหม่ราว 9 ราย ขณะที่บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ในกทม.ด้วย
นายเดวิด นาโดน กรรมการผู้จัดการ HEMRAJ กล่าวว่า จากการปรับเปลี่ยนมาตรฐานบัญชีใหม่ในการรับรู้รายได้ คาดว่าจะส่งผลต่อการบันทึกรายได้ในปีนี้ เหลือ 60-70% ของยอดขายที่ดินที่ตั้งเป้าหมายไว้ 1.4 พันไร่ แต่ในส่วนของรายได้ที่มาจากธุรกิจสาธารณูปโภคก็ยังเติบโต โดยคาดว่าจะเติบโตถึง 25% ขณะที่การให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปจำเติบโต 20%
ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุนที่สนใจเข้ามาซื้อที่ดินอย่างต่อเนื่อง โดยในกลุ่มดังกล่าวมีผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 6-7 ราย รวมจำนวนที่ดิน 2 พันไร่ ซึ่งบริษัทมีแผนจะเจรจาเข้าไปถือหุ้นรายละ 25% เพราะเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการสร้างรายได้และกำไรในอนาคต เนื่องจากธุรกิจไฟฟ้ามีอัตรากำไรที่ดี
นอกจากนั้น ยังมีลูกค้าใหม่ ๆ จากสหรัฐและยุโรปแสดงความสนใจเข้ามาซื้อที่ดิน ขณะที่ลูกค้าญี่ปุ่นก็ยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมี 2-3 รายที่ขอชะลอการเจรจาไว้ก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ในประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ได้มีการยกเลิกเจรจาไป ซึ่งลูกค้าใหม่ ๆ ที่แสดงความสนใจเข้ามาซื้อที่ดินของบริษัท ส่วนใหญ่ต้องการเข้ามาตั้งฐานการผลิตเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA)ที่ไทยมีกับประเทศต่าง ๆ
นายเดวิด กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีความน่าสนใจลงทุนเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนาม เพราะเวียดนามยังมีปัญหาเงินเฟ้อสูง แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการกลุ่มรถยนต์ผลิตโมเดลได้หลากหลายมากขึ้น ถ้าทำได้ในอนาคตไทยจะขึ้นเป็นอับดับที่ 10 จากปัจจุบันอยู่ในอันดับ 12 ของฐานการผลิตรถยนต์ของโลก
"เราเห็น trend การเข้ามาของลูกค้าในการซื้อที่ดินใน 6-7 เดือนข้างหน้า จึงทำให้เราปรับยอดขายในปีนี้เพิ่มขึ้น และเราก็เชื่อว่าความต้องการยังมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งก็ส่งผลให้เราอยู่ระหว่างมองหาแผนในการขยายที่ดิน โดยเราวางงบไว้ 1 พันล้านบาท ซึ่งนั่นก็จะสามารถเพิ่มที่ดินได้ 2-3 พันไร่ จากไตรมาส 4/53 ที่เรามีที่ดินเหลือขาย 1.8 พันไร่"นายเดวิด กล่าว
นายเดวิด กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทได้วางงบลงทุนไว้ 6-7 พันล้านบาท โดยส่วนหนึ่งจะเป็นการลงทุนในโรงไฟฟ้า รวมถึง โรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน ที่ยังมีภาระชำระเงินลงทุนกว่าพันล้านบาท ซึ่งจะเริ่มเดินเครื่องได้ในต้นปี 55 รวมถึงการลงทุนด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สร้างโรงงาน และที่เหลือเป็นการสำรองไว้เป็นทุนหมุนเวียน
บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้ 2-3 พันล้านบาทภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า จากวงเงินทั้งหมด 6 พันล้านบาทที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น ที่จะสำรองไว้สำหรับเงินลงทุนและรองรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นด้วย แม้การออกหุ้นกู้จะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)เพิ่มขึ้น แต่บริษัทไม่กังวล เนื่องจากในอนาคตจะมีรายได้จากธุรกิจพลังงานเข้ามาช่วย
ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น คาดว่าจะมีการพัฒนาโครงการใหม่ในช่วงต้นปี 55 ซึ่งปัจจุบันมีที่ดิน 4 ไร่ จะพัฒนาเป็นโครงการวิลล่า ริมแม่น้ำช่วงถนนพระราม 3 ราคายูนิตละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท