นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยว่า บริษัทเลื่อนกำหนดการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งมอนทาร่าในออสเตรเลียออกไปเป็นไตรมาส 1/55 ล่าช้าจากแผนเดิมที่คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในดือน ธ.ค.54 แต่ยังคงเป้าหมายปริมาณขายในปีนี้ไว้ที่ 2.73 แสนบาร์เรล/วัน โดยคาดว่าจะให้แหล่งเดิมที่มีอยู่ทำการผลิตเพิ่มขึ้น
"ปีนี้จากที่มอนทาร่าเลื่อนออกไปมีความเป็นไปได้ว่าจะปรับเป้าหมายปริมาณขาย แต่เรายังดูยอดขายที่เป็นดอลล่าร์เป็นหลัก"นายอนนต์ กล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทจะได้ปริมาณปิโตรเลียมชดเชยจากแหล่ง S1 ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นและมีแหล่งอื่นเข้ามาด้วย สำหรับในไตรมาส 2/54 ราคาขายเฉลี่ยทั้งน้ำมันและก๊าซปรับขึ้นจากไตรมาส 1/54 ราคาขายปิโตรเลียมเฉลี่ยที่ 49.36 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ(BOD)โดยมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นตามสัญญาซื้อขายระยะยาวในแหล่งบงกช ยานาดา เยตากุน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20% ของปริมาณก๊าซทั้งหมด ซึ่งบริษัทมีปริมาณการผลิต 70% เป็นก๊าซและอีก 30% เป็นน้ำมัน
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในช่วงต้นไตรมาส 2/54 อยู่ที่ 115 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าราคาเฉลี่ยไตรมาส 1/54 ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้เชื่อว่าราคาน้ำมันดิบสูงอยู่ต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนปริมาณการผลิตและขายคาดว่าใกล้เคียงในไตรมาส 1/54 ที่ 2.71 แสนบาร์เรลต่อวัน
สำหรับแหล่งมอนทาร่าบริษัทเลื่อนการผลิตเชิงพาณิชย์เป็นไตรมาส 1/55 เพื่อยืดหยุ่นในการปฏิบัติการณ์และเพื่อความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นโดยแต่ละขั้นตอนต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลออสเตรเลีย บริษัทจึงไม่ต้องการให้เกิดความเสี่ยงจากความเสียหายอีก ส่วนการเรียกร้องค่าเสียจากรัฐบาลอินโดนีเซียกรณีได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากแหล่งมอนทาร่า ยังคงมีการพูดคุยกันอยู่และต้องพิสูจน์ว่าอินโดนีเซียได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากแหล่งมอนทาร่าจริง
"ขยับแหล่งมอนทาร่าให้เป็น 1/55 ยอมรับตามตรงว่าค่อนข้างไทด์มาก ต้องการให้ตารางการทำงานยืดหยุ่น กังวลปัญหาหรือผลกระทบหากเร่งผลิตจะเกิดผลด้านลบต่อบริษัทและจะทำให้ต้นทุนสูงด้วย"นายอนนต์ กล่าว
ส่วนแหล่งบงกชใต้ สามารถเร่งให้ผลิตได้เร็วกว่าแผน 6 เดือน จากเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงกลางปี 2555 ขณะที่แหล่ง M9 ในประเทศพม่าได้ปรับเปลี่ยนการบริหารเป็นหน่วยย่อยซึ่งดีกว่าการบริหารรวมทั้งหมดในแหล่ง M 3 7 11 และเชื่อว่าในปลายปี 54 จะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ โดยแหล่ง M9 สามารทำได้โดยลำพังไม่จำเป็นต้องหาผู้ร่วมทุนแต่ในอนาคตหากมีข้อเสนอที่ดีก็พร้อมพิจารณาผู้ร่วมทุน ส่วนแหล่ง M 11 เป็นแหล่งสำรวจในน้ำลึกมีความเสี่ยงสูงหากมีผู้ร่วมทุนจะดีกว่าโดยแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่แตกต่างจากเดิม
ด้านแหล่งในอัลจีเรีย บล็อก 433a และ 416 b ซึ่งบริษัทถือหุ้น 35% บริษัทอยู่ระหว่างการศึษาการลดต้นทุนจากแหล่งนี้และเจรจากับรัฐบาลที่มีการกำหนดกรอบเวลาที่จำกัดเกินไป แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจมองไปถึงตัดจำหน่ายแหล่งดังกล่าวออกไป
"แหล่งในแอลจีเรียเราหนักใจมาก กติกาเปลี่ยนทำให้ต้นทุนเราสูงขึ้น" ทั้งนี้ตามแผนจะมีการผลิตน้ำมันในแหล่งนี้ได้ในปี 2557
ส่วนโครงการ FLNG จะได้ข้อสรุปโครงการในปลายปีนี้เริ่มลงทุนปีนี้ โดยปริมาณสำรอง 1 หมื่นล้านลูกบาศก์ซึ่งคุ้มค่ากับการทำโครงการ โดยคาดว่าเงินลงทุนใน 2556-2557 เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเม็ดเงินลงทุนเพราะช่วงนั้นงบลงทุนของบริษัทมีจำนวนไม่มาก