TUF เชื่อผลงาน Q2/54 ดีขึ้นจาก Q1/54 ทั้งปียอดขายใกล้ 3 พันล้านเหรียญฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 9, 2011 09:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF)เปิดเผยว่า บริษัทมีความพร้อมรับมือกับปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ประกอบกับในช่วงไตรมาส 2/54 จะเริ่มเข้าสู่ช่วง High Season สำหรับการขาย ซึ่งน่าจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานดียิ่งขึ้น รวมทั้งมั่นใจว่ายอดขายของบริษัทในปีนี้จะเข้าใกล้ที่ 3,000 ล้านเหรียญอย่างแน่นอน

การดำเนินธุรกิจของบริษัทหลังรวมกับ MW Brands แล้ว ยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะผลการดำเนินงานของ MW Brands ในไตรมาสนี้ สามารถทำได้ดีทั้งยอดขายและกำไรเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ ขณะที่บริษัท ไทร-ยูเนี่ยน ซีฟู้ดส์ จำกัด และบริษัท ไทร-ยูเนี่ยน โฟรเซ่น ฟู้ดส์ จำกัด ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีผลงานที่ดีเช่นเดียวกัน

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ที่มาจากสหภาพยุโรปจะอยู่ที่ 33% จากเดิม 11% ขณะที่สัดส่วนรายได้จากประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 37% จากเดิม 49%

สำหรับความผันผวนทางธุรกิจที่เกิดขึ้นขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของราคาวัตถุดิบกุ้ง และค่าเงินบาท ซึ่งก็เป็นความผันผวนที่ต่อเนื่องมาจากไตรมาส 4 ประกอบกับในไตรมาสนี้ต้องเผชิญกับเหตุการณ์หลายเหตุการณ์เช่น การเกิดอุทกภัยทางภาคใต้ การเกิดสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น และการพบสารกัมมันตภาพรังสีในทะเลแปซิฟิคแถบประเทศญี่ปุ่น แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างมีสาระสำคัญ ทั้งนี้สังเกตได้จากตัวเลขยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสนี้

ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/54 บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นทั้งในของรูปเงินเหรียญสหรัฐและในของรูปเงินบาท ขณะที่กำไรสุทธิในไตรมาสนี้ก็กลับมาเติบโตอีกครั้งตามที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 เนื่องจากบริษัทสามารถรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4/53 ได้แล้ว

ทั้งนี้ บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 114% จาก 352 ล้านบาทในไตรมาส 4 โดยสามารถทำได้ถึง 753 ล้านบาทในไตรมาสนี้ และมี gross margin เท่ากับ 14.8% ซึ่งเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันจากไตรมาส 4 ที่ทำได้ 11.8% ขณะที่ยอดขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 5% และในรูปเงินบาทก็เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการและการเติบโตของธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ

และขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาผลประกอบการเทียบกับไตรมาสมาส 1 ปีที่แล้ว จะเห็นว่า บริษัทยังสามารถสร้างยอดขายในรูปเงินเหรียญสหรัฐเท่ากับ 725 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2553 ที่มียอดขายเท่ากับ 498 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ยอดขายในรูปของเงินบาทก็มีการเติบโตขึ้น 39% จากยอดขาย 16,329 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2553 มาเป็น 22,706 ล้านบาทในไตรมาสนี้ สำหรับในส่วนของกำไรสุทธิ บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิในไตรมาสนี้เท่ากับ 753 ล้านบาท ลดลง 9% เมื่อเทียบกับปี 2553 ที่มีกำไรสุทธิ 831ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.79 บาท

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกนี้ ทุกผลิตภัณฑ์มียอดขายที่เติบโตขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า หลังจากรวมกับ MW Brands แล้ว มีการเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทั้งด้านปริมาณและมูลค่าการขายโดยเพิ่มขึ้น 52% และ 82% ตามลำดับ ขณะที่ผลิตภัณฑ์กุ้งก็มีปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น 37% และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 22% แม้ว่าราคาวัตถุดิบปลาทูน่าและกุ้งในปีนี้จะเพิ่มสูงถึง 47% และ 26% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน แต่ในส่วนของกำไรสุทธิในไตรมาส 1 จะเห็นว่าลดลง 9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งไม่ได้เป็นสาระสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท เพราะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้แล้วตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ว่า ไตรมาสแรกของปีนี้จะยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ไตรมาส 4/53 โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาของวัตถุดิบ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และมีผลต่ออัตราการทำกำไรในไตรมาสแรก ถึงแม้ว่าบริษัทจะได้มีการปรับราคาขายให้สอดคล้องกับราคาของวัตถุดิบแล้ว แต่ในไตรมาส 1/54 จะยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน เนื่องจากช่วงแรกยังไม่สามารถปรับราคาเป็นราคาใหม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ดีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมได้มีการปรับราคาขึ้นมาทั้งหมดแล้ว ขณะที่ปัจจัยจากค่าเงินบาทก็เป็นเหตุผลอีกประการหนึ่ง เนื่องจากยังความผันผวนอยู่ โดยแข็งค่าขึ้นถึง 4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการเข้าซื้อ MW Brands ยังมีผลต่อเนื่อง แต่ก็มีผลเฉพาะในช่วงไตรมาสนี้เท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี ขณะนี้บริษัทมีความสามารถในการรับมือกับปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี และเชื่อมั่นว่า แนวโน้มไตรมาส 2 จะดีขึ้นกว่าไตรมาสนี้

สัดส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์ในไตรมาสแรกนี้ ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ามีสัดส่วนยอดขายมากที่สุดจากผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทคือ 52% รองลงมาได้แก่ กุ้งแช่แข็ง 17% ตามด้วยอาหารแมวบรรจุกระป๋อง 7% ขายในประเทศ 7% อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง 4% อาหารกุ้ง 4% ปลาซาร์ดีนและแมคเคอเรลบรรจุกระป๋อง 4% และปลาแซลมอนแช่แข็ง 4% และปลาหมึกแช่แข็ง 1% โดยมีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ สหรัฐอเมริกา 37% รองลงมาคือ สหภาพยุโรป 33% ญี่ปุ่น 9% ขายในประเทศ 9%ออสเตรเลีย 3% อัฟริกา 2% เอเชีย 2% ตะวันออกกลาง 2% อเมริกาใต้ 2% และแคนาดา 1%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ