บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) ที่ระดับ “A" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A" โดยอันดับเครดิตหุ้นกู้ใหม่ใช้แทนอันดับเครดิตที่ทริสเรทติ้งประกาศผลไปเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 สำหรับหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทที่มีกำหนดไถ่ถอนภายในปี 2561 ของบริษัท เนื่องจากบริษัทตัดสินใจเพิ่มวงเงินหุ้นกู้อีกจำนวน 500 ล้านบาท
ทั้งนี้ วงเงินที่เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแต่อย่างใด บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปชำระคืนเงินกู้ยืมและขยายธุรกิจของบริษัท
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่า ตลอดจนกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาเช่าโรงงานและคลังสินค้า และผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัท ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มการผลิตสินค้าเพื่อรองรับทั้งการบริโภคภายในประเทศและเพื่อการส่งออกด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าได้ต่อไป โดยที่ความต้องการพื้นที่เช่าโรงงานและคลังสินค้าที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกจะช่วยรองรับผลกระทบในระยะสั้นที่บริษัทอาจได้รับจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า TICON เป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าในประเทศโดยก่อตั้งในปี 2533 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 บริษัทได้ขยายธุรกิจสู่การให้บริการคลังสินค้าให้เช่าตั้งแต่ปี 2548 โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 มีโรงงานให้เช่าจำนวน 108 โรง และมีคลังสินค้าให้เช่าจำนวน 36 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหลัก ๆ ของประเทศ รวมเป็นพื้นที่ให้เช่าทั้งสิ้น 456,975 ตารางเมตร
ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2554 บริษัทมีพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้นสุทธิ 56,780 ตร.ม. ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา รายได้หลักของบริษัท (66%) มาจากการขายสินทรัพย์ของบริษัทเข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ 26% ของรายได้มาจากค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้า โดยในระหว่างปี 2549-2553 บริษัทมีรายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทีพาร์คโลจีสติคส์ (TLOGIS) ประมาณ 1,900 ล้านบาทต่อปี
ณ เดือนมีนาคม 2554 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่นยังคงเป็น บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) (20.5%) รวมทั้งกลุ่มผู้บริหารของบริษัท (9.9%) กองทุนเพื่อการร่วมลงทุน (5.3%) และกลุ่มซิตี้เรียลตี้ (5.2%) ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากผลงานการให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปที่มีคุณภาพ รวมทั้งความสามารถในการก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปตามมาตรฐานในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งจากการใช้ทีมงานก่อสร้างของบริษัทเอง
จากรายงานของ CB Richard Ellis (CBRE) ระบุว่า ณ เดือนธันวาคม 2553 บริษัทและ TFUND มีส่วนแบ่งทางการตลาดของพื้นที่โรงงานให้เช่ารวม 65.8% ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งรายอื่นเป็นอย่างมาก โดยคู่แข่งสำคัญประกอบด้วย บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (11.1%) บมจ. เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) (9.1%) บมจ. ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม (TFD) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยอินดัสเตรียล 1 (7.4%) และ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) (6.6%)
ในปี 2553 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้บริษัทมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 17.3% เป็น 2,783 ล้านบาท ในขณะที่รายได้ค่าเช่ารวมเพิ่มขึ้น 5.1% เป็น 851 ล้านบาทจากจำนวนพื้นที่เช่าและอัตราการต่อสัญญาที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราการเช่ารวมปรับตัวดีขึ้นเป็น 77.8% สะท้อนถึงการฟื้นตัวของความต้องการเช่าพื้นที่โรงงาน
นอกจากนี้ ในปี 2553 บริษัทยังสามารถขายโรงงานสำเร็จรูปจำนวน 36 แห่ง พื้นที่รวม 87,435 ตร.ม. มูลค่า 1,738 ล้านบาทให้แก่ TFUND ซึ่งได้รับอัตรากำไรขั้นต้น 44.8% บริษัทมีเงินกู้รวม ณ เดือนธันวาคม 2553 จำนวน 6,176 ล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นเป็น 52.5% ซึ่งสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของผลกำไรและส่วนของทุนจากการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิในปี 2553
บริษัทมีลูกค้าเป็นบริษัทญี่ปุ่นซึ่งเช่าโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าคิดเป็นสัดส่วน 54% และ 22% ของผู้เช่าทั้งหมดตามลำดับ ลูกค้าดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งอาจได้รับผลกระทบในระยะสั้นจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นจากอุปสรรคในการจัดหาและขนส่งชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ล่าช้า อย่างไรก็ตาม ในระยะปานกลางถึงระยะยาว บริษัทญี่ปุ่นน่าจะพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีสภาพทางธรณีวิทยาที่ปลอดภัยกว่าและมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า เช่น ประเทศไทย