(เพิ่มเติม1) ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งคดี DTAC ฟ้องกสท.-TRUE ทำ 3G สัปดาห์หน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 10, 2011 16:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองกลางระบุว่าจะในสัปดาห์หน้าจะมีคำสั่งในคดีที่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) ได้ยื่นฟ้อง บมจ.กสท โทรคมนาคม (กสท) และพวกรวม 2 ราย ดำเนินการทำสัญญาร่วมดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยการพัฒนาโครงข่ายซีดีเอ็มเอให้เป็นบริการ 3G หลังจากศาลได้นัดไต่สวนความเป็นมาของสัญญา และจะนำข้อเท็จจริงที่ได้ไปพิจารณาว่าจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ และจะให้ความคุ้มครองฉุกเฉินกับ DTAC ตามที่ร้องขอหรือไม่

แต่ตัวแทนฝ่าย DTAC ขอระยะเวลาในการทำคำชี้แจง เนื่องจากเห็นว่า ทาง กสท. ได้มีหนังสือชี้แจงมาเป็นจำนวนมาก จึงต้องการขยายเวลาการยื่นคำชี้แจงออกไปเป็นภายในเย็น 12 พ.ค. 54 จากก่อนเที่ยงของวันที่ 12 พ.ค. 54

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ DTAC ซึ่งเป็นผู้ฟ้อง กับ กสทฯ และพวก ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้อง กลับไปจัดทำเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมแล้วส่งกลับมาให้ศาลภายในวันที่ 12 พ.ค.นี้ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในสัปดาห์หน้า ก่อนที่จะมีคำสั่งว่าจะออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการปฏิบัติตามสัญญาร่วมดำเนินธุรกิจโทรศัพท์มือถือโดยการพัฒนาโครงข่ายซีดีเอ็มเอให้เป็นบริการ 3G บนคลื่น 850 เมกะเฮิรตช์(HSPA) ระหว่าง กสท. กับ TRUE ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือไม่

"สัปดาห์หน้าจะมีคำสั่งว่าจะคุ้มครองหรือไม่คุ้มครองชั่วคราว ซึ่งศาลได้ให้ทั้งสองฝ่ายกลับไปทำคำชี้แจงมา ความจริงแล้วข้อมูลที่ส่งมาให้ก็เพียงพอที่จะวินิจฉัยแล้ว แต่เพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายจึงให้ทำคำชี้แจงเพิ่มเติมมาภายในวันพฤหัสฯ" ตุลาการศาลปกครองกลาง กล่าวบนบัลลังก์

ในระหว่างการไต่สวนคดี ประเด็นที่ DTAC ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำสัญญาร่วมดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์(HSPA) ที่ DTAC ระบุในคำฟ้องว่าจะเกิดความเสียหายยากจะเยียวยานั้น ตัวแทนฝ่าย DTAC ชี้แจงว่า การให้บริการ 3G คลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์(HSPA) ไม่ได้เปิดโอกาสให้ DTAC เบ้าร่วมด้วย ดังนั้นจะทำให้ DTAC เสียโอกาสในการทำธุรกิจ และถือว่าเป็นการปฏิบัติไม่เท่าเทียมทางกฎหมาย

และการระงับดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ HSPA ที่มีความเร็วเทียบเท่า 3G จะไม่กระทบกับประเทศไทย เพราะปัจจุบันมีผู้ให้บริการอยู่แล้ว คือ กสท.ที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA 20001X

นอกจากนี้ การระงับชั่วคราวจะไม่กระทบกับผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA แต่จะเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะหากยึดตามสัญญาเดิมการให้บริการยังมีต่อเนื่องอีก 5 ปี แต่เมื่อเปลี่ยนสัญญาจะให้บริการต่อได้อีก 2 ปี และสาเหตุที่กสท.ประสบผลขาดทุนในการดำเนินโทรศัทพ์เคลื่อนที่ CDMA เพราะไมได้เข้าพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ตั้งแต่ต้น

*กสท. ติดต่อคุยผู้บริหาร DTAC

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการ กสท. ชี้แจงต่อศาลว่า หากมีการะงับโครงการจะทำให้กสท. จะถุกฟ้องร้องจาก TRUE เพราะได้จัดหาอุปกรณ์และเงินทุนมาแล้ว และการให้กลุ่มทรูเข้ามาดำเนินการเป็นการให้เป็น resailer ไม่ได้เป็นการให้คลื่นความถี่ ซึ่งรายอื่นหรือแม้แต่ DTAC เองก็สามารถขอเป็น resailer ได้ หรือเป็นบริษัทใดก็ได้ที่ได้ใบอนุญาตจากทช. แบบที่ 1 เพราะสัญญาไม่ได้ปิดกั้น ดังเช่น บมจ.ทีโอที ที่ดำเนินการอยู่ เพียงแต่ทีโอทีลงทุนโครงข่ายเอง แต่กสท.เป็นการเช่าโครงข่าย

นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าว คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ได้อนุมัติ.ให้ใช้คลื่นความถี่ที่กสท. มีพัฒนาเป็นระบบ HSPA อย่างถูกต้อง อีกทั้งหากระงับโครงการไปจะกระทบกับผู้ใช้ 1.2 ล้านราย

นายจิรายุทธ ยังชี้ให้เห็นว่า หากไม่มีการดำเนินโครงการนี้ จะทำให้เกิดผลขาดทุนต่อไปอีก ซึ่งการที่กสท.อัพเกรดจากระบบ CDMA ที่มีคนนิยมใช้น้อยมาเป็น HSPA จะช่วยลดการขาดทุน ซึ่งล่าสุดบริษัทขาดทุน 2,300 ล้านบาท

"ทำไมผู้ฟ้อง(DTAC) ถึงมาฟ้องในตอนนี้ ตอนที่ทำสัญญา (กสท.กับทรู) เมื่อ 27 ม.ค.54 DTAC ไม่ได้โต้แย้งอะไร เรื่องนี้ DTAC มีความเช้าใจคลาดเคลื่อน น่าจะเป็นข้อมูลที่ได้รับจากหน้าหนังสือพิมพ์" นายจิรายุทธ กล่าว

ต่อมา ตัวแทนจาก TRUE ได้ลุกขึ้นมาชี้แจงในฐานะพยานของกสท.ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องว่า หากศาลมีการระงับโครงการนี้ จะทำให้ บริษัท บีเอฟเคที(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มทรูมีสภาพหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะได้กู้เงินระยะสั้นจากธนาคารไทยพาณิชย์จำนวน 6,300 ล้านบาท จะครบกำหนดชำระในวันที่ 27 ก.ค. 54 จะต้องจ่ายคืนรวมดอกเบี้ยเป็นจำนวน 6,600 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อกิจการจากฮัทชิสัน ฮ่องกง 2 บริษัทคือ บริษัท ฮัทชิสัน ซีเคที ไวร์เลส มัลติมีเดีย ซึ่งเป็นคู่ทำสัญญาการทำตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA กับ บริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าอุปกรณ์และโครงข่าย CDMA

และบริษัทยังได้ขอวงเงินกู้ระยะยาวประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท จากธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธ.กรุงศรีอยุธยา ธนาคารทิสโก้ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน และ ธนาคารธนชาต เพื่อนำปลงทุนอุปกรณ์ระบบ HSPA และ คืนเงินกู้ 6,600 ล้านบาทกับธนาคารไทยพาณิชย์ ฉะนั้น หากระงับการทำสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ HSPA ที่บริษัทในกลุ่มทรูได้ทำสัญญากับ กสท. จำนวน 14.5 ปี เท่ากับไม่มีการดำเนินกิจการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายจิรายุทธ กล่าวว่า ในระหว่างนี้ได้มีการติดต่อกับฝ่ายบริหารของ DTAC ซึ่งกำลังติดต่อนัดหารือกันต่อไป แต่ยีนยันว่า กสท.ไม่ได้มีข้อเสนอไปยัง DTAC ให้ถอนฟ้องจากศาลปกครอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ