ปลัดไอซีที ระบุคกก.ยุติเจรจาเอกชนทุกรายกรณีแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรคมฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 11, 2011 11:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะประธานคณะกรรมการเจรจาการแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ขณะนี้คณะกรรมการยุติการเจรจากับเอกชนทุกรายแล้ว ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (DPC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ADVANC

เนื่องจากการเจรจาไม่ประสพความสำเร็จ จึงไม่สามารถเดินหน้าฟ้องร้อยเรียกค่าเสียหายตามความเห็นของคณะกรรมการมาตรา 22 และ 13 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน)

ข้อมูลที่ได้รับจาก บมจ.ทีโอที ซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับ ADVANC และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับ DTAC, ทรูมูฟ และ ดิจิตอลโฟน ต่างไม่มีความสมบูรณ์ ขณะที่ บริษัทเอกชนทั้ง 4 รายยืนยันการกระทำของตนเองถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีเหตุผลต้องจ่ายชดใช้กรณีแก้ไขสัญญาสัมปทาน

"เราพยายามรับฟังมาหลายรอบแล้ว แม้ว่าทางฝ่ายเอกชนพยายามแสดงว่าเขาพร้อมเจรจา แต่ถึงเวลาจริงก็จะไม่มีข้อมูลรายละเอียดใดๆ ก็ได้แต่บอกว่าเขาทำถูกต้องแล้ว ก็ทำให้เจรจาต่อไม่ได้ กรรมการทุกคนพิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่า น่าจะรายงาน ครม.ว่าการเจรจาเดินต่อไม่ได้"นางจีราวรรณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ยังไม่ได้เข้ารายงานต่อที่ประชุม ครม.เพราะที่ผ่านมามีวาระการประชุมค่อนข้างมาก ทั้งนี้จะเป็นวาระเพื่อทราบเพื่อรายงานผลที่ ครม.มอบหมายงานให้คณะกรรมการเจรจาฯไปดำเนินการ และคณะกรรมการเจรจาฯแต่งตั้งโดย ครม.ซึ่งจะไม่มีการอนุมัติอะไร คาดว่าจะสามารถเข้าวาระในวันที่ 18 พ.ค.นี้

นางจีราวรรณ กล่าวว่า คณะกรรมการฯได้นำเสนอต่อ นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที ซึ่งจะเป็นผู้รายงานต่อที่ประชุม ครม. หลังจากนั้น รมว.ไอซีที จะมีคำสั่งไปยัง ทีโอที และ กสท. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดไอซีที ไปดำเนินการต่อเอกชนที่เป็นคู่สัญญา หากยังตกลงกันไม่ได้ก็จะต้องฟ้องศาลเพื่อให้คู่สํญญาสัมปทานปฏิบัติตามสัญญาเดิม โดยเอกชนก็สามารถร้องคัดค้านได้ แต่ระหว่างที่มีข้อพิพาทยังไม่สามารถยกเลิกการให้บริการได้ยังต้องดูแลลูกค้าต่อไปเพื่อไม่ให้รับความเดือดร้อน

ทั้งนี้ ความเห็นของคณะกรรมการมาตรา 22 และ 13 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ระบุว่า ADVANC มีการแก้ไขสัญญาสัมปทาน 7 ครั้ง รวมค่าเสียหายกว่า 7 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ในหลักของการเจรจา ต้องการให้ข้อกำหนดในสัญญากลับไปเป็นตามเดิม

ด้านนายวิเชียร เมตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC กล่าวว่า บริษัทยังไม่ได้รับทราบเกี่ยวกับการหยุดการเจรจากับบริษัท กรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทาน และยืนยันบริษัทก็ยืนยันว่าได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายมาโดยตลอดออยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน คาดว่าเร็วๆนี้ จะมีคำชี้ขาดจากอนุญาโตตุลาการจากข้อพิพาทระหว่าง ทีโอที กับบริษัทกรณีการที่บริษัทหักภาษีสรรพาสามิตออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่ชำระให้ ทีโอที หลังจากที่มีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการกรณีข้อพิพาทระหว่าง ดิจิตอลโฟนและกสท.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ