บมจ.เอแคป แอ๊ดไวเซอรี่(ACAP)คาดว่าผลประกอบการในปี 54 กำไรจะเติบโตขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนที่มี 221 ล้านบาท แม้ว่าในแง่รายได้อาจจะใกล้เคียงกัน โดยบริษัทย่อยที่สิงคโปร์น่าจะทำรายได้ราว 30-40 ล้านบาทเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุน 3-4 พันล้านบาท เพื่อซื้อหนี้ NPL มาบริหารจัดการ ขณะที่บริษัทมีงานที่ปรึกษาทางการเงินในประเทศกว่า 10 ดีล ส่วนใหญ่เป็นดีล M&A แต่คาดว่าจะมีข้อสรุปภายในปีนี้ราว 4-5 ดีล มูลค่ารวมราว 6 พันล้านบาท
นายวิวัฒน์ วิบูลย์เธียร ประธานกรรมการบริหาร ACAP กล่าวว่า ปี 54 กำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 53 หลังไตรมาส 1/54 บริษัทมีกำไรสุทธิแล้วกว่า 113 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากกำไรจากการขายสินทรัพย์ของบริษัท แคปปิตอล โอเค จำกัด เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
"ปี 53 เรามีรายได้ 200 กว่าล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากรายการพิเศษ ถ้าดึงออก กำไรจริงๆน่าจะอยู่ 50 ล้านบาท ส่วนปีนี้ ต้นปีเราขายสินทรัพย์ออกไป ก็มีกำไรเข้ามากว่า 100 ล้านบาท ทั้งปีน่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย"นายวิวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทจะมีการรับรู้รายได้จากบริษัทย่อยแห่งใหม่ คือ ARUM ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 63% ที่จะเริ่มดำเนินธุรกิจในสิ้นเดือนนี้ และคาดว่าจะรับรู้รายได้ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยบริษัทตั้งเป้ารายได้จากบริษัทนี้ในปีนี้ 30-40 ล้านบาท ส่วนปีหน้าคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 100 ล้านบาท
"บริษัท AURUM จะเน้นเจาะตลาดในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลลิปปินส์ อินเดีย จีน และไทย ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้กับบริษัท โดยทาง AURUM จะเป็นคนเข้าไปช่วยหาลูกค้า ซึ่งทางเอ็มดีที่จะเช้ามาบริหารเป็นคนอินเดียเป็นคนมี connection ดี มีลูกค้าเยอะ น่าจะเป็นแหล่งรายได้เพิ่มให้กีบบริษัท ตอนนี้มีลูกค้าแล้วหลายราย"นายวิวัฒน์ กล่าว
ในปี 54 บริษัท ตั้งงบลงทุน 3-4 พันล้านบาทเข้าไปซื้อ NPL ที่มีมูลค่าหนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
และในส่วนบริษัท แคปปิตอล โอเค จำกัด ปัจจุบันทำธุรกิจเป็นคอลล์เซ็นเตอร์ ในการปรึกษาให้บริการต่างๆ น่าจะมีรายได้ในปีนี้ประมาณ 100 ล้านบาท โดยบริษัทจะหาซื้อพอร์ตเครดิตการ์ด และสินเชื่อบุคคลที่เป็น NPL ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเพิ่มเติม นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างหาพันธมิตรมาร่วมธุรกิจ Retail Loan ด้วย
ด้านนายเอนก ปิ่นวนิชย์กุล กรรมการผู้จัดการ ACAP กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีดีลทั้งดีลควบรวมกิจการ และ การระดมทุน อยู่ประมาณ 10 กว่าดีล มูลค่ารวมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นดีลควบรวมกิจการที่เป็นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ แต่มีอยู่ 1 ดีล เป็นการเข้าควบรวมกิจการบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในกลุ่มอาหาร โดยในปีนี้บริษัทคาดว่าจะปิดดีลได้ 4-5 ดีล มูลค่าประมาณ 6 พันล้านบาท
"กลุ่มที่มีดีล M&A ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาหาร และ อิเล็คทรอนิคส์ โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ไทยเป็นศูนย์กลางเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งนักลงทุนหลายรายสนใจเข้ามาลงทุน และหลายบริษัทก็ต้องการนำเงินมาขยายกิจการ ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิคส์ ต่างประเทศก็สนใจเข้ามาลงทุนเพื่อเป็นการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต" นายเอนก กล่าว