ทริสฯคงเครดิตองค์กร-หุ้นกู้มีค้ำประกัน GLOW ที่ "A" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 20, 2011 08:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีการค้ำประกันของ บมจ. โกลว์ พลังงาน(GLOW) ที่ระดับ “A" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานในธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยของบริษัทที่ได้รับการยอมรับ ตลอดจนการมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากความเสี่ยงที่ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ในบริเวณมาบตาพุด ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าในบริเวณดังกล่าวซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตของบริษัทในระยะยาว

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม การเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจะค่อย ๆ เพิ่มกระแสเงินสดที่แน่นอนให้แก่บริษัทในปี 2554 และปี 2555 ตามลำดับ

GLOW ก่อตั้งในปี 2536 เพื่อประกอบธุรกิจผลิตไฟฟ้าในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ( SPP) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บริษัทได้ขยายสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Cogen) และธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันกลุ่ม GDF SUEZ ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ทั้งนี้ GDF SUEZ เป็นกลุ่มพลังงานชั้นนำของโลกซึ่งดำเนินธุรกิจหลักด้านพลังงานตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า ค้าก๊าซ และให้บริการด้านพลังงานอื่น ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป ปัจจุบัน บริษัทโกลว์ พลังงานเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของไทย

ในปี 2553 มีรายได้และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากธุรกิจ Cogen ประมาณ 70% ของรายได้ทั้งหมด ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 กลุ่มบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,945 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย IPP 865 เมกะวัตต์ และ Cogen 1,080 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้า IPP พลังงานก๊าซของบริษัทแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี และโรงไฟฟ้า IPP พลังงานน้ำอีกแห่งตั้งอยู่ในประเทศลาว ธุรกิจโรงไฟฟ้า Cogen ของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและอีสเทิร์นซีบอร์ดในจังหวัดระยองส่วนใหญ่ให้บริการแก่ลูกค้าในธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งต้องการกระแสไฟฟ้าที่มีความแน่นอนสูง อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความเสี่ยงจากการมีลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งกระจุกตัวอยู่ในเขตพื้นที่มาบตาพุด

จากกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของกลุ่มโกลว์จำนวน 1,945 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำจำนวน 1,046 ตันต่อชั่วโมง บริษัททำสัญญา PPA อายุระหว่าง 21-25 ปีเพื่อขายไฟฟ้าจำนวน 1,429 เมกะวัตต์ให้แก่ กฟผ. ส่วนปริมาณไฟฟ้าและไอน้ำที่เหลือรวมถึงน้ำปราศจากแร่ธาตุนั้นบริษัททำสัญญาซื้อขายระยะยาวกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม โดยสัญญาดังกล่าวมีระยะเวลาคงเหลือมากที่สุด 20 ปี ทั้งนี้ การขายไฟฟ้าและไอน้ำตามสัญญาดังกล่าวถือเป็นแหล่งรายได้ที่แน่นอนสำหรับบริษัท ในปี 2553 บริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ในสัดส่วน 57% และส่วนที่เหลือขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม

ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากลูกค้าอุตสาหกรรมในธุรกิจ Cogen ของบริษัทโกลว์ พลังงานเติบโตอย่างมากในปี 2553 โดยปริมาณขายไฟฟ้าแก่ลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 14.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 3,897 กิกะวัตต์ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน CFB#3 ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ช้ากว่าแผนทำให้ปริมาณขายไฟฟ้าและไอน้ำของบริษัทเติบโตไม่มากนัก โดยเพิ่มขึ้นเพียง 4.1% ในปี 2553 ทำให้รายได้รวมของบริษัทเติบโต 3.3% เป็น 35,657 ล้านบาท อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 25.0% จาก 22.1% ในปี 2552 เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ลดลง

ในปี 2553 บริษัทมี EBITDA เท่ากับ 9,084 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จาก 7,830 ล้านบาทในปี 2552 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 EBITDA ของบริษัทลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ 2,279 ล้านบาทเนื่องจากรายได้จากธุรกิจ IPP ลดลง 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากผลกระทบของการแข็งค่าของเงินบาท ตลอดจนปัญหาปริมาณน้ำฝนที่ลดลงซึ่งกระทบต่อรายได้ที่บริษัทได้รับจากโรงไฟฟ้าห้วยเหาะ การลดลงของค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ EBITDA ของบริษัทลดลง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 62.1% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 เทียบกับ 59.8% ในปี 2552 เนื่องจากบริษัทมีการกู้ยืมเพิ่มเพื่อลงทุนในโครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า คาดว่า EBITDA ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในปี 2554 จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าแห่งใหม่และการเพิ่มขึ้นของค่า Ft ในอัตรา 0.089 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงที่มีผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนสิงหาคม 2554 แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องปริมาณน้ำฝนที่ลดลงของโรงไฟฟ้าห้วยเหาะและต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นก็ตาม

โรงไฟฟ้า CFB#3 (ขนาด 115 เมกะวัตต์เทียบเท่า) เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2553 โดยล่าช้ากว่ากำหนดการ 11 เดือน แต่รายได้ที่ขาดหายไปจากความล่าช้าในการเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าได้รับการชดเชยบางส่วนจากผู้รับเหมาของโครงการตามสัญญาก่อสร้าง ส่วนโครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 2 โครงการคือโรงไฟฟ้า Cogen ระยะที่ 5 (ขนาด 382 เมกะวัตต์เทียบเท่า) และโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้ชื่อ GHECO-One (ขนาด 660 เมกะวัตต์) นั้นยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการทั้ง 2 แห่งจะต้องใช้เงินทุนเพื่อการพัฒนาตามแผนอีกประมาณ 9,800 ล้านบาทในปี 2554 โรงไฟฟ้า Cogen ระยะที่ 5 จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนกันยายน 2554 ในขณะที่โรงไฟฟ้า IPP คาดว่าจะเปิดดำเนินการในเดือนมกราคม 2555 ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมประมาณ 2 เดือน โครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวจะทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทเพิ่มขึ้นอีก 1,042 เมกะวัตต์เทียบเท่า และกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของกลุ่มโกลว์จะเพิ่มขึ้น 47% เป็น 3,275 เมกะวัตต์ในปี 2555

GDF SUEZ และ International Power PLC (IPR) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทโกลว์ พลังงานมีแผนจะรวมกิจการธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทยเข้าด้วยกันหลังจาก IPR ได้รวมกับกลุ่ม GDF SUEZ ในต้นปี 2554 ปัจจุบัน IPR มีบริษัทย่อยในประเทศไทยคือ บริษัท ไทยเนชั่นแนล เพาเวอร์ จำกัด (TNP) TNP และบริษัทย่อยเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซขนาด 143 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการ SPP ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง

นอกจากนี้ TNP ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโรงไฟฟ้า Cogen ขนาด 110 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการ SPP มูลค่าก่อสร้าง 4,500 ล้านบาทด้วย หากบริษัทตัดสินใจจะรวมกิจการกับ TNP ฐานะการเงินของบริษัทจะอ่อนแอลง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่จัดการได้เนื่องจากจะมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจาก TNP ตามสัญญา PPA และกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ของบริษัทที่กำลังทยอยเปิดดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของบริษัทในระยะยาวเนื่องจากบริษัทมีนโยบายที่จะเน้นขยายกำลังการผลิตในบริเวณมาบตาพุดซึ่งบริษัทมีความสามารถในการแข่งขันสูงเป็นหลัก จากกำลังการผลิตใหม่ทั้งสิ้นจำนวน 1,042 เมกะวัตต์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา บริษัทยังคงมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ 70 เมกะวัตต์ที่ยังไม่มีสัญญาขายไฟระยะยาวรองรับ ทั้งนี้ ความกังวลในเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดอาจส่งผลให้การขยายตัวของธุรกิจอื่น ๆ ในบริเวณดังกล่าวเป็นไปอย่างจำกัดซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าในบริเวณนี้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ