นายณรงค์ชัย วิสูตรชัย ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจไอพีพีและรัฐสัมพันธ์ บมจ.โกลว์ (GLOW) เสนอแนะรัฐบาลร่วมลงทุนกับภาคเอกชนจัดตั้งนิคมโรงไฟฟ้าในสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อขจัดปัญหาการต่อต้าน เนื่องจากปัจจุบันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรืออยู่ใกล้กับชุมชนก็จะถูกต่อต้าน โดยประเด็นการคัดค้านส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการสร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น หากภาครัฐกำหนดนโยบายการสร้างนิคมไฟฟ้า ก็จะช่วยลดปัญหาการต่อต้านได้ในระดับหนึ่ง โดยการก่อสร้างนิคมไฟฟ้ายังช่วยลดความเสี่ยงในการพึ่งพาไฟฟ้าจากต่างประเทศ หากเกิดปัญหาที่ระบบสายส่ง
โครงการนิคมโรงไฟฟ้านี้รัฐบาลควรจะเข้ามาเป็นผู้ร่วมลงทุนกับภาคเอกชน เนื่องจากเป็นโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก โดยโรงไฟฟ้าภายในนิคมอาจเป็นการลงทุนโดยภาครัฐ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) หรือภาคเอกชนในประเทศ
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า เอกชนไทยที่มีความสามารถในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP)ที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 100 เมกะวัตต์อยู่หลายราย ซึ่งสามารถให้มาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าได้ ส่วนรัฐเป็นผู้ลงทุนในระบบส่ง มั่นใจว่ามีความคุ้มค่าในการสร้างสายส่งขนาดใหญ่คือตั้งแต่ 500 กิโลวัตต์ เนื่องจากนิคมไฟฟ้าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมใกล้เคียง หรือมากกว่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่(ไอพีพี)
นโยบายส่งเสริมการก่อสร้างนิคมไฟฟ้าควรจะอยู่ในรูปแบบเดียวกับนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันและอนาคต โดยจะต้องมีการกำหนดพื้นที่ที่แน่นอนและเหมาะสม และกำหนดหลักเกณฑ์ชัดเจน เช่น ระยะห่างจากชุมชน การจัดการและดูแลสิ่งแวดล้อม รวมทั้งคำนึงถึงความพร้อมและองค์ประกอบในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเชื้อเพลิงด้วย เช่น อยู่ใกล้ท่าเรือ หรือแนวท่อก๊าซธรรมชาติ
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มผลประกอบการของ GLOW ในปี 54 จะไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมามากนัก แต่จะเริ่มมีรายได้มากขึ้นในช่วงปลายปี และในปี 55 จะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 55% จากรายได้ในปี 53 ซึ่งมีรายได้รวมทั้งสิ้น 36,150 ล้านบาท โดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายภาษีเงินได้และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) 9,521 ล้านบาท เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเก็คโค่วัน (Greco1) ขนาด 660 เมกะวัตต์ จะสามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบของ กฟผ.ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.54 เป็นต้นไป
โรงไฟฟ้าเก็คโค่วัน เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีใหม่ที่ควบคุมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้อยู่ในระดับ 50 ส่วนต่อล้านส่วน ซึ่งเป็นระดับต่ำเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ นอกจากนั้นบริษัทฯยังอยู่ในระหว่างการขยายการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งอื่นๆเพิ่มขึ้น ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 115 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 400 เมกะวัตต์ 1 แห่ง ส่วนโรงไฟฟ้าพลังน้ำห้วยเฮาะ ในสปป.ลาวอยู่ระหว่างการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า
ทั้งนี้ คาดว่าภายในระยะเวลา 3 ปี โครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้บริษัท มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมจาก 2,000 เมกะวัตต์ เป็น 3,000 เมกะวัตต์ นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะขยายการลงทุนไปยังพลังงานทดแทน โดยปัจจุบันมีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 2 เมกะวัตต์เป็นแห่งแรกที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตะพุด