AMATA คาดรายได้ Q2/54 สูงกว่า Q1/54 จากรับรู้ฯขายที่อมตะนครมากขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 23, 2011 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น(AMATA) กล่าวว่า รายได้ไตรมาส 2/54 จะสูงกว่าไตรมาส 1/54 หลังจากมูลค่ายอดขายที่ดินที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครปรับตัวเพิ่มขึ้น และราคาขายต่อไร่สูงกว่านิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้กว่า 2 เท่า โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ล้านบาท/ไร่ แต่หากคิดเป็นจำนวนไร่จะใกล้เคียงกับไตรมาส 1/54 ที่อยู่ที่ 246 ไร่

ปัจจุบัน บริษัทมียอดขายที่ดินแล้ว 300-400 ไร่ จากเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 1.5-1.8 พันไร่ และมียอดขายรอโอน(backlog)กว่า 1.9 พันล้านบาท แบ่งเป็นที่อมตะนคร 900 ล้านบาท และอมตะซิตี้ 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้เป็นรายได้ภายในปีนี้ประมาณ 90% โดยบริษัทยังมีที่ดินในมือรอขายอีกกว่า 1.3-1.4 หมื่นไร่ แบ่งเป็นที่อมตะนคร 8 พันกว่าไร่ และอมตะซิตี้ 5 พันไร่

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีลูกค้าใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้นถึง 30-40% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าจากประเทศญี่ปุ่นที่ติดต่อเข้ามา

"ลูกค้าญี่ปุ่นตอนนี้เข้ามาเยอะ เริ่มมาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เข้ามาก็เป็นพวกยานยนต์ ถือเป็น major player ของเรา เป็นสัญญาณที่ดีมาก ๆ ในปีนี้...ภาพรวมทั้งปียังดีอยู่ ถ้าการเลือกตั้งผ่านพ้นไปด้วยดี ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยหนุนผลประกอบการในปีนี้" นายวิบูลย์ กล่าว

นายวิบูลย์ กล่าวว่า บริษัทคาดว่าผลงานในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก ส่วนหนึ่งเป็นไปตามฤดูกาลปกติ และอีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากลูกค้าที่ญี่ปุ่นที่เข้ามาติดต่อในขณะนี้น่าจะได้รับอนุมัติงบลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งขณะนี้บริษัทมีแผนเพิ่มโรงงานสำเร็จรูปเป็น 100 โรงในปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 70 โรง เป็นโรงงานขนาดเล็กเนื้อที่ประมาณ 1,250 ตร.ม.ใช้รองรับลูกค้าอุตสาหกรรมขนาดเล็กทั้งไทยและญี่ปุ่น ค่าเช่า 170-180 บาท/ตร.ม.

บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มกำลังการผลิตน้ำ ซึ่งทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับความต้องการของลูกค้า ปัจจุบันที่อมตะนครมีกำลังารผลิตอยู่ที่ 5-6 หมื่น ลบ.ม./วัน ส่วนอมตะซิตี้อยู่ที่ 1.5-2.0 หมื่น ลบ.ม./วัน

"การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก อย่างเช่นตัวโรงไฟฟ้า ต้องการน้ำเพิ่มขึ้น 5-6 พัน ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งจะเกิดขึ้นในปีหน้าที่อมตะนคร ส่วนที่อมตะซิตี้จะเกิดขึ้นในปี 56"นายวิบูลย์ กล่าว

สำหรับโครงการการขยายนิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามในหลักการไม่น่ามีปัญหา แต่ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนได้ว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อใด นอกจากนั้น บริษัทก็ยังศึกษาการลงเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ อย่าง ลาว พม่า และ กัมพูชาด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ