บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ บมจ.ปริญสิริ(PRIN) ที่ระดับ “BBB-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่เป็นที่ยอมรับของบริษัทในตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านจัดสรร ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น และสภาพคล่องทางการเงินที่เพียงพอหลังจากการดำเนินนโยบายขายที่ดินเปล่าที่ยังไม่มีแผนพัฒนาในอนาคตอันใกล้ออกไป
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่างถูกลดทอนบางส่วนจากผลงานที่ไม่น่าพอใจของบริษัทในตลาดคอนโดมิเนียม ตลอดจนลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการแข่งขันที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างซื้อที่ดินเป็นจำนวนมากตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2553
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้แม้ว่ายอดขายจะไม่แข็งแกร่งเท่ากับในปี 2553 ก็ตาม โดยคาดว่าบริษัทจะสามารถส่งมอบที่อยู่อาศัยให้แก่ลูกค้าได้ตามแผน อีกทั้งยังคาดว่าบริษัทจะบริหารอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนด้วยความระมัดระวัง
PRIN เป็นผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลางซึ่งก่อตั้งในปี 2543 โดยกลุ่มตระกูลโกวิทจินดาชัย และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2548 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 กลุ่มตระกูลโกวิทจินดาชัยยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทในสัดส่วน 60% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่หลากหลายซึ่งรวมถึงบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียมที่เน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล การมีโครงการบ้านจัดสรรที่มีขนาดไม่ใหญ่มากทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
PRIN มียอดขายอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 4,017 ล้านบาทในปี 2553 จาก 2,056 ล้านบาทในปี 2552 และ 2,386 ล้านบาทในปี 2551 ซึ่งเป็นผลมาจากการมียอดขายคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮ้าส์ที่เพิ่มขึ้น ภายหลังจากที่มีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในโครงการคอนโดมิเนียมจนลุล่วงแล้ว บริษัทก็นำห้องชุดที่ลูกค้าเคยยกเลิกไปกลับมาขายใหม่ในปี 2553 ในขณะที่โครงการทาวน์เฮ้าส์ภายใต้แบรนด์ Sixnature และ CitySense ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า
ยอดขายของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 ลดลงเนื่องจากมีการเปิดโครงการใหม่น้อย โดยยอดขายในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2554 ลดลงถึง 65% เป็น 397 ล้านบาท รายได้ของบริษัทในปี 2553 เท่ากับ 4,449 ล้านบาท ลดลง 9% จาก 4,898 ล้านบาทในปี 2552 โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายบ้านเดี่ยวและที่ดินเปล่าที่ลดลง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 รายได้ลดต่ำลงเหลือ 438 ล้านบาท ซึ่งลดลงอย่างมากจาก 1,258 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2553
ทั้งนี้ ความล่าช้าของงานก่อสร้างทำให้การส่งมอบที่อยู่อาศัยต้องเลื่อนออกไป รายได้ที่ลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้สูงขึ้น กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทก็อ่อนแอลง โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเป็น 1.90% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 จาก 5.84% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงเดียวกันของปี 2553 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้แม้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 34.81% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 จาก 31.67% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553
ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยของไทยเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 และอยู่ในสภาวะทรงตัวตลอดปี 2553 ทั้งนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และมาตรการจูงใจทางด้านภาษีจากภาครัฐเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นความต้องการที่อยู่อาศัยในปี 2553 ผู้ประกอบการหลายรายต่างลดแผนการขยายธุรกิจในช่วงปี 2552 อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่ดีและสภาพคล่องทางการเงินที่มีอยู่มากเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์เชิงรุกมากยิ่งขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ส่วนใหญ่เร่งซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นและยังคงเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดต่อไป อีกทั้งส่วนใหญ่มีแผนการขยายธุรกิจเชิงรุกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ดังนั้น ราคาที่ดินในทำเลที่ดีจึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่การสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษีของรัฐบาลเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ความต้องการที่อยู่อาศัยก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ คาดว่าการเปลี่ยนแปลงในนโยบายอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV Ratio) ของธนาคารแห่งประเทศไทยและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงวงจรขาขึ้นน่าจะช่วยลดความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการเก็งกำไรลงและจะส่งเสริมให้ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เติบโตอย่างมีคุณภาพมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป