หุ้น TK ราคาพุ่งขึ้น 6.32% มาอยู่ที่ 9.25 บาท เพิ่มขึ้น 0.55 บาท มูลค่าซื้อขาย 13.15 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.16 น. โดยเปิดตลาดที่ 9.35 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 9.45 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 9.20 บาท
นายประพล พรประภา รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ฐิติกร(TK) กล่าวว่า คาดว่าการที่หุ้นปรับเพิ่มขึ้นน่าจะเกิดจากการที่นักลงทุนให้ความเชื่อมั่นในการเติบโตของบริษัท โดยเฉพาะการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อในปีนี้ที่บริษัทได้มีการปรับเพิ่มเป็น 20% จากเดิมโต 10% หรือ 7 พันล้านบาท ซึ่งในไตรมาส 1/54 มีการเติบโตแล้ว 5% ประกอบกับ การที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มน่าจะส่งผลต่อผู้บริโภคให้ปรับเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์มากขึ้น และการปรับตัวของราคาสินค้าเกษตรทำให้ลูกค้าต่างจังหวัดมีกำลังซื้อที่มากขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนลูกค้าต่างจังหวัด 65% และจะเพิ่มเป็น 80% ใน 2 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ บริษัทได้มีการวางแผนในการรองรับยด้วยการเพิ่มจำนวนพนักงานอีก 400 ราย จากปัจจุบัน 1.8 พันราย ในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า เพื่อให้ครอบคลุมการใช้บริการของลูกค้า
บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ"ซื้อสะสม"หุ้น TK ราคาเหมาะสม 14.50 บาท กลยุทธ์การแข่งขันในธุรกิจที่เน้นการให้บริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับ Dealer ทำให้คาดว่า TK จะยังคงรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจ และน่าจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้มากขึ้น โดยคาดว่ายอดสินเชื่อของ TK จะเติบโตสูง 15% ในปีนี้หลังจาก 1Q54 เติบโตไปแล้ว 5.0%
ขณะที่การบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่ดี โดยการใช้แหล่งเงินทุนระยะยาวมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และสามารถรักษา NIM ไว้ได้สูงกว่า 30% น่าจะผลักดันให้กำไรสุทธิของ TK เติบโตได้ 21% ในปีนี้ และเติบโตต่อเนื่องอีก 17% ในปี 55
แม้ราคาหุ้น TK จะปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยศักยภาพในการเติบโตของผลการดำเนินงานที่โดดเด่นต่อเนื่อง รวมถึงราคาหุ้นปัจจุบันยังคงถือว่าค่อนข้างถูก ซื้อขายที่ระดับPER เพียง 6.8 เท่า และ PBV เพียง 1.2 เท่า ขณะที่ ROE สูงถึงระดับ 19-20% และคาดหวังผลตอบแทนเงินปันผล (dividend yield) สูงถึง 8.0% จึงมองว่าหุ้น TK ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีกมาก แม้ว่าปัจจุบันหุ้นจะมีขนาดเล็ก แต่คาดว่าหุ้น TK จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันในอนาคต
TK เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมีประสบการณ์ในธุรกิจดังกล่าวมากว่า 39 ปี และมีส่วนแบ่งการตลาดในเขตกรุงเทพและปริมณฑล 25.5% สูงสุดเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องมา 28 ปี โดยปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 78 สาขา ครอบคลุม 45 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ
ภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงแข็งแกร่ง รวมถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของรายได้ภาคการเกษตร น่าจะช่วยผลักดันให้ยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก 8.3% ในปีนี้ ขึ้นสู่ระดับ 2.0 ล้านคัน ขณะที่การแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ถือได้ว่าไม่รุนแรงมากนัก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่การแข่งขันด้านราคารุนแรงมาก โดยสำหรับธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์นั้นมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ระดับ 2.0% ต่อเดือน (Flat rate) หรือคิดเป็น Effective rate ในระดับเกือบ 40% ต่อปี