บลจ.ธนชาตออกกองทุนทองคำ RMF 2 กอง ลงทุนทองแท่ง ขาย 27 พ.ค.-8 มิ.ย.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 26, 2011 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ธนชาต เปิดเผยว่า บริษัทออกกองทุนเปิดธนชาตทองคำแท่งเพื่อการเลี้ยงชีพ-H (TGoldRMF-H) และ กองทุนเปิดธนชาตทองคำแท่งเพื่อการเลี้ยงชีพ-UH (TGoldRMF-UH) และจะเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก ระหว่างวันที่ 27 พ.ค.-8 มิ.ย. 2554 มูลค่าซื้อขั้นต่ำในการสั่งซื้อ 1,000 บาท

กองทุนรวมทองคำ RMF ทั้ง 2 กองทุน มีนโยบายการลงทุนมุ่งเน้นลงทุนโดยตรงในทองคำแท่ง (Physical gold หรือ Gold bullion) ในต่างประเทศ ที่มาตรฐานผู้ผลิตเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตามมาตรฐานของ London Bullion Market Association (LBMA) โดยกองทุน TGoldRMF-H ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน และกองทุน TGoldRMF-UH ไม่ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

ปัจจุบันกองทุน RMF ภายใต้การจัดการของ บลจ.ธนชาต มีนโยบายการลงทุนหลายรูปแบบ ตั้งแต่กองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ (กองทุนตลาดเงิน) และค่อย ๆ เพิ่มระดับขึ้น ได้แก่ กองทุนพันธบัตร กองทุนตราสารหนี้ไทย กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ กองทุนผสม (หุ้นและตราสารหนี้) และกองทุนหุ้น การจัดตั้งกองทุน RMF ที่ลงทุนโดยตรงในทองคำแท่งครั้งนี้ จึงเพิ่มทางเลือกในการผสมการลงทุนให้กับผู้ถือหน่วยในสินทรัพย์อีกประเภทหนึ่ง คือ โลหะมีค่า และจะเป็น กองทุน RMF กองทุนแรกในประเทศไทยที่ลงทุนตรงในทองคำแท่งอีกด้วย

บลจ.ธนชาต เล็งเห็นว่าหลักการลงทุนที่ดี คือ การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายประเภทตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับผู้ลงทุน เพื่อช่วยลดความไม่แน่นอนของผลตอบแทนได้ โดยการกระจายความเสี่ยงที่ดี คือ การลงทุนในสินทรัพย์ที่จะไม่เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันทั้งหมด และที่ผ่านมาทองคำมีการเคลื่อนไหวสัมพันธ์กับ หุ้น พันธบัตร หรือ ตราสารหนี้ ไม่มาก จึงเป็นการลงทุนทางเลือกที่อาจนำมาผสมกับการลงทุนหลัก ที่ลงทุนเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร ตราสารหนี้ หรือหุ้น ได้ตามสัดส่วนที่เหมาะกับความต้องการของผู้ลงทุน

นอกจากนั้น ปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลางและผลกระทบต่อราคาน้ำมันยังคงเป็นประเด็นหลักที่สนับสนุนราคาทองคำ เสริมด้วยความผันผวนของสกุลเงินตราสกุลต่าง ๆ จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ จะส่งผลเชิงบวกต่อราคาทองคำในช่วง 1 — 2 เดือนข้างหน้า ทำให้มีความต้องการสินทรัพย์ที่ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น

ปัจจัยสนับสนุนทองคำในระยะยาว ยังคงมาจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจากประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินเดีย จีน ความต้องการถือทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางเพื่อกระจายความเสี่ยง ความต้องการถือทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ ภาวะเงินเฟ้อ ภาวะสงครามและความไม่สงบต่าง ๆ รวมถึงการเข้าถึงการลงทุนในทองคำได้ง่ายขึ้นผ่านรูปแบบการลงทุนต่าง ๆ เช่น อีทีเอฟ และกองทุนรวมทองคำแท่ง ในขณะที่การผลิตทองคำจากเหมืองต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ