บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) ที่ระดับ “A+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่มีโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบครอบคลุมพื้นที่ในเขตชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ตลอดจนลักษณะธุรกิจที่ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาได้ยาก และความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ
นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่บริษัทมีรายได้ที่สม่ำเสมอและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากความต้องการเงินลงทุนที่สูง ตลอดจนผลกระทบที่คาดเดาไม่ได้จากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ และความเสี่ยงจากการมีกลุ่มลูกค้าที่ไม่หลากหลาย นอกจากนี้ กระบวนการในขออนุญาตใช้น้ำจากแหล่งน้ำใหม่จากกรมชลประทานที่ใช้เวลานานยังเป็นประเด็นกังวลต่อความสามารถของบริษัทในการให้บริการที่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดได้ต่อไป อีกทั้งการประกอบธุรกิจจะไม่ได้รับผลกระทบในทางลบจากการเปลี่ยนแปลงใดใดในนโยบายภาครัฐ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะขยายธุรกิจโดยการเพิ่มภาระหนี้ด้วยความระมัดระวังและมีการติดตามตรวจสอบอย่างมีวินัย
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกก่อตั้งในปี 2535 เพื่อรับผิดชอบให้บริการน้ำดิบในพื้นที่ 7 จังหวัดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ภาคเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบการพัฒนาและดำเนินการดูแลระบบท่อส่งน้ำดิบ ปัจจุบันบริษัทให้บริการน้ำดิบในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราเนื่องจากพื้นที่ในต่างจังหวัดหลายแห่งได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า และสังคมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการน้ำประปาในเขตพื้นที่บริการอีก 11 เขตด้วย
โดยในปี 2553 บริษัทมีรายได้รวม 3,066 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้จากการจำหน่ายน้ำดิบคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 68% และจากธุรกิจน้ำประปาคิดเป็น 23% ของรายได้รวม
ทั้งนี้ ในปี 2553 รายได้น้ำดิบของบริษัทเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ระดับ 2,118 ล้านบาทเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและโครงการในเขตมาบตาพุดที่เคยชะลอไว้กลับมาดำเนินการได้ใหม่ ในขณะที่รายได้จากธุรกิจจำหน่ายน้ำประปายังคงแข็งแกร่ง โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 13%
อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการมีลูกค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทั้งนี้ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทจัดส่งรายได้ในสัดส่วนประมาณ 65%-70% ของยอดขายรวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยทั้ง กปภ. และ กนอ. ยังมีอำนาจในการต่อรองราคาน้ำดิบด้วย ซึ่งบริษัทได้ให้ส่วนลดบางส่วนแก่ลูกค้าทั้ง 2 รายสำหรับปี 2551-2554
นับตั้งแต่ก่อตั้ง บริษัทเช่าและดำเนินการบริหารโครงการท่อส่งน้ำดิบจำนวน 4 โครงข่ายซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง หลังจากนั้นบริษัทได้พัฒนาโครงข่ายการจ่ายน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายในทุกพื้นที่ที่ให้บริการ แม้ว่าการประกอบกิจการไม่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน แต่การมีโครงข่ายที่ครอบคลุมนั้นจะต้องใช้เงินลงทุนสูงซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญในการเข้าสู่ธุรกิจประเภทนี้ ดังนั้น บริษัทจึงไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องของคู่แข่งทางตรงในธุรกิจน้ำดิบในอนาคตอันใกล้ โครงข่ายท่อส่งน้ำของบริษัทที่เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร รวมทั้งการสูบและส่งน้ำดิบจากแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อจัดสรรให้แก่ลูกค้าในทุกพื้นที่ที่ให้บริการ โดยที่ความเสี่ยงสำคัญประการหนึ่งของธุรกิจการให้บริการน้ำดิบคือการจัดหาแหล่งน้ำ
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศนั้นมีผลต่อปริมาณน้ำฝน โดยฝนที่ตกในช่วงฤดูฝนจะเป็นการสะสมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ตลอดปี นอกจากนี้ ความต้องการใช้น้ำดิบที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลให้บริษัทต้องหาแหล่งน้ำใหม่เพิ่มขึ้นซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ไกลจากพื้นที่ให้บริการของบริษัท ดังนั้น ต้นทุนการสูบและส่งน้ำของบริษัทจึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่จะนำมาใช้นั้นขึ้นอยู่กับการอนุมัติของกรมชลประทานซึ่งให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรเป็นอันดับแรก สำหรับธุรกิจบริการน้ำประปาซึ่งแม้จะมีอุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ แต่โอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคตยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจาก กปภ. ไม่มีนโยบายที่จะเปิดประมูลสัมปทานใหม่ ๆ หรือให้เอกชนดำเนินการแทน
ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทเป็นผลมาจากการมีแหล่งรายได้ที่แน่นอนและอุปสงค์การใช้น้ำที่มีอย่างสม่ำเสมอ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทอยู่ที่ระดับ 54%-55% ในช่วงปี 2552 ถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 เงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,085 ล้านบาทในปี 2552 เป็น 1,226 ล้านบาทในปี 2553 และอยู่ที่ระดับ 424 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2554 ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทยังคงแข็งแกร่งเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่ระดับ 47%-48% ในช่วงปี 2552-2553
นอกจากนี้ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายยังเพิ่มขึ้นจากระดับ 13.2 เท่าในปี 2552 สู่ระดับ 17.3 เท่าในปี 2553 โดยในไตรมาสแรกของปี 2554 อัตราส่วนทั้งสองยังคงปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่เงินกู้รวมเพิ่มขึ้นจาก 2,289 ล้านบาทในปี 2552 เป็น 2,564 ล้านบาทในปี 2553 และ 2,900 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 เนื่องจากการลงทุนในการวางท่อส่งน้ำเส้นที่ 3 จากหนองปลาไหลไปยังมาบตาพุด ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจากระดับ 26.5% ในปี 2553 เป็น 31.3% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 อย่างไรก็ตามคาดว่าภาระหนี้สินจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทมีแผนการใช้วิธีกู้ยืมเพื่อนำเงินไปใช้ในการลงทุนบางส่วน โดยที่บริษัทมีแผนในการลงทุนมากกว่า 4,000 ล้านบาทในระหว่างปี 2554-2556