ทริสฯทบทวนอันดับเครดิตองค์กร LALIN ปรับแนวโน้มเป็น Positive จาก Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 3, 2011 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ (LALIN) ที่ระดับ “BBB" ในขณะเดียวกันก็ประกาศเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Positive" หรือ “บวก" จาก “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตที่ระดับ “BBB" สะท้อนความสามารถในการควบคุมต้นทุนค่าก่อสร้าง การบริหารการเงินที่รอบคอบ และผลงานที่เป็นที่ยอมรับในตลาดบ้านจัดสรรสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลงและการคาดการณ์ว่าภาวะการแข่งขันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายได้เตรียมจัดซื้อที่ดินไว้เป็นจำนวนมากตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2553

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถปรับปรุงผลการดำเนินงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะสั้นถึงปานกลาง ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจถูกปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถรักษาอัตราผลกำไรและดำรงอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับต่ำเอาไว้แม้จะมีความต้องการลงทุนมากขึ้นในอนาคต ในทางตรงข้าม หากผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงจากระดับที่เป็นอยู่ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการปรับลดอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตลง

ทริสเรทติ้งรายงานว่า LALIN ก่อตั้งในปี 2531 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2545 นายทวีศักดิ์ วัชรรัคคาวงศ์และนายไชยยันต์ ชาครกุลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทด้วยสัดส่วนการถือหุ้นรวมกัน ณ สิ้นเดือนเมษายน 2554 จำนวน 63% บริษัทเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮ้าส์ โดยมีราคาเฉลี่ยในปี 2553 หลังละ 2.6 ล้านบาท

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จากการขายบ้านเดี่ยวยังคงเป็นรายได้หลักของบริษัทซึ่งคิดเป็นประมาณ 60% ของรายได้รวม ส่วนรายได้จากบ้านแฝดและทาวน์เฮ้าส์คิดเป็นประมาณ 29% และ 11% ตามลำดับ ทั้งนี้ ความสามารถในการควบคุมต้นทุนค่าก่อสร้างทำให้บริษัทมีความได้เปรียบในการเสนอราคาขายบ้านในระดับที่ไม่แพง ในขณะเดียวกันก็ยังมีอัตรากำไรที่ดี

รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอจาก 955 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 1,693 ล้านบาทในปี 2553 ผลจากมาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐในช่วงเดือนมีนาคม 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2553 รวมถึงการออกสินค้าในโครงการใหม่ และยอดขายที่ดีขึ้นในโครงการเดิมบางโครงการช่วยเพิ่มยอดขายและรายได้ของบริษัทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม รายได้ในไตรมาสแรกของปี 2554 ลดลงเป็น 350 ล้านบาท โดยลดลง 32% จากช่วงเดียวกันของปี 2553 เนื่องจากการสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้จะลดลง แต่มูลค่ายอดขายในไตรมาสแรกของปี 2554 ยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ประมาณ 577 ล้านบาท

นอกจากนี้ อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทก็อยู่ในระดับสูง หรือประมาณ 40% ของยอดขาย ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 27.28% ในปี 2553 ลดลงเล็กน้อยจาก 28.13% ในปี 2552 เนื่องจากบริษัทมีการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพแม้จะไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่สิ้นสุดไปแล้ว

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่ดีและการขยายโครงการที่ระมัดระวังช่วยทำให้กระแสเงินสดของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมที่ระดับประมาณ 60% ในระหว่างปี 2552 และปี 2553 บริษัทยังคงมีฐานะการเงินที่คล่องตัวในระดับที่น่าพอใจเนื่องจากมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 1,358 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในระดับต่ำที่ 15.34% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 54

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ความต้องการที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยปกติภาครัฐมักให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ตลาดที่อยู่อาศัยของไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากแรงกระตุ้นของมาตรการจูงใจด้านภาษีของภาครัฐในช่วงปี 2551-2553 และภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม ตลาดที่อยู่อาศัยตลอดปี 2553 อยู่ในสภาวะทรงตัว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหลายรายได้เร่งซื้อที่ดินเพิ่มตั้งแต่ปลายปี 2552 ซึ่งส่งผลทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของผู้ประกอบการหลายรายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปี 2553

การเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV Ratio) ของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2554 และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงวงจรขาขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่คาดว่าจะชะลอความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการเก็งกำไรในตลาดคอนโดมิเนียมลงและลดทอนความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น จึงคาดว่าอัตราการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยในปีนี้จะต่ำลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายน่าจะแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากผู้ประกอบการรายเล็กเพราะผู้ประกอบการรายใหญ่พยายามเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจโดยการเข้าไปแข่งขันในตลาดที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่ต่ำลงไป สถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นสาเหตุที่ทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งกว่าในอดีต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ