THAI ขอคลังลดค้ำประกันเงินกู้เหลือ 25% รอรัฐบาลใหม่ตัดสินกรณีลดถือหุ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 10, 2011 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอำพน กิตติอำพน ในฐานประธานกรรมการ บมจ.การบินไทย(THAI) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวันนี้ได้รับทราบการส่งหนังสือขอให้กระทรวงการคลังปรับปรุงหลักการในการค้ำประกันเงินกู้ให้กับบริษัทเหลือ 25% จากเดิม 50% เพื่อปลดล็อคเงื่อนไขการกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวของบริษัทในการกู้เงิน

ทั้งนี้ ในอนาคต 6-7 ปี บริษัทวางเป้าหมายจะปลดล็อคการค้ำประกันเงินกู้โดยกระทรวงการคลังทั้งหมดเช่นเดียวกับ บมจ.ปตท.(PTT) ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน PTT และยังคงสถานะรัฐวิสาหกิจ แต่สามารถบริหารได้คล่องตัวกว่า THAI

อย่างไรก็ตาม ต้องให้สถานภาพของ THAI มีทรัพย์สินมากกกว่าหนี้สินในระดับหนึ่ง จึงจะทำให้สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

"หนังสือได้ส่งไปที่กระทรวงการคลังแล้ว แต่ต้องรอครม.ใหม่จัดตั้งก่อน เพราะเรื่องนี้คงต้องผ่านมติครม.ด้วย"นายอำพน กล่าว

สำหรับแนวทางการลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังใน THAI จาก 51.03% นั้น นายอำพน กล่าวว่า ตามหลักการและกฎหมายของตลาดหลักทรัพย์ ผู้ถือหุ้นสามารถลดสัดส่วนการถือหุ้นได้ แต่ ณ ปัจจุบันยังคงถือหุ้นที่ 51% แต่หากรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วยังเห็นด้วยกับการลดสัดส่วนหุ้นลง ทางคณะกรรมการและฝ่ายบริหารก็ไม่สามารถขัดขวางได้ เพระถือเป็นสิทธิของผู้ถือหุ้น

นายอำพน ยังกล่าวอีกว่า ได้ชี้แจงกรณีแนวทางการลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังให้พนักงานจำนวนหนึ่งที่มาชุมนุมหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ในวันนี้เข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทไม่สามารถกำหนดได้ เพราะเป็นสิทธิของผู้ถือหุ้น

ส่วนกรณีที่พนักงานต้อนรับไม่เห็นด้วยกับมาตรการลดจำนวนลูกเรือในแต่ละเที่ยวบินที่มีผู้โดยสารไม่ถึง 350-400 คน เนื่องจากฝ่ายบริหารเห็นว่าเป็นช่วงโลว์ซีซั่น จำนวนผู้โดยสารมักจะต่ำกว่าระดับดังกล่าว บางเที่ยวบินอาจเหลือแค่ 200 คน เชื่อว่าจำนวนลูกเรือที่จัดสรรจำนวน 16 คน จะเพียงพอต่อการให้บริการ และคณะกรรมการฯ ให้นโยบายฝ่ายบริหารว่าการดำเนินการใด ๆ ให้อยู่ในกรอบของการให้บริการที่มีคุณภาพ

ขณะที่ความไม่พอใจเกี่ยวกับการลดเวลาพักต่างประเทศของพนักงานต้อนรับ ขณะนี้ได้ผ่อนผันกรณีเฉพาะจุดบินปารีสกับลอนดอน ส่วนจุดบินอื่นที่เรียกคืนจำนวนวันไปแล้วก็จะยังคงเดิม เนื่องจากมาตรการดังกล่าวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะถือเป็นนส่วนหนึ่งของต้นทุน หากพนักงานยังคงยืนกรานไม่ยอม ก็จะทำให้ผลประกอบการได้รับผลกระทบเหมือนที่แล้วมา ดังนั้น จึงเชื่อว่าพนักงานส่วนใหญ่จะเข้าใจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ