นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชียพลัส กล่าวในงานสัมนาเรื่อง"หุ้นไทย 1,200 จุด ลงทุนแบบ เน้นคุ้มค่า (VI ) หรือทำกำไรระยะสั้น"ว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 1,224 จุด ภายใต้ พี/อี 14 เท่า แม้ในช่วงสั้นอาจจะมีการปรับลดลงไปบ้าง
เนื่องจากเขื่อว่าเม็ดเงินจากต่างชาติยังเข้ามาลงทุน เพราะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียยังโดดเด่นเมื่อเทียบกับสถานการณ์ของยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่มีปัญหาเศรษฐกิจ และจะส่งผลให้มีเงินกลับมาลงทุนในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย แต่ต้องภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่รุนแรง
สำหรับปัจจัยที่มองว่าตลาดหุ้นไทยยังน่าสนใจลงทุน เนื่องจาก EPS ของบริษัทจดทะเบียนในปี 54 น่าจะเติบโต 20% และ PEขณะนี้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 12 เท่า ที่ดัชนีตลาดหุ้นไม่ถึง 1,000 จุด จึงทำให้ดัชนีมีโอกาส down side จุดต่ำสุดน่าจะอยู่ที่ 961 จุดในเดือนมิ.ย 54 จึงมองว่าเป็นจังหวะที่สามารถซื้อสะสมได้
ส่วนส่วนเม็ดเงินต่างชาติเชื่อว่าจะทยอยขายลง เพราะก่อนหน้าที่มีการขายไปแล้วค่อนข้างมาก เห็นได้จากสถิติการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ พบว่ายอดซื้อสะสม ณ 5 ม.ค.54 จำนวน 1 แสนล้านบาท และตั้งแต่ 5 ม.ค- 11 ก.พ.54 มียอดขาย 41,000 ล้านบาท และ 14 ก.พ -13 พ.ค ซื้อกลับ 67,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบัน ณ 7 มิ.ย.54 ขาย 31,000 ล้านบาท
นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจัยการเมืองจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะหากมีสิ่งนอกเหนือกฎหมาจะส่งผลต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย รวมทั้ง PE ปรับลดลง แต่มองว่าสถานการณ์ครั้งนี้คงจะไม่รุนแรงและเลวร้ายเหมือนในอดีตที่กดดันใน PE ลดลงมาที่ 8 เท่า และมองว่าปัจจุบัน PE 12 เท่า เป็นจุดที่รับได้
"ช่วงสั้น ๆ มีโอกาสที่ดัชนีจะหลุดได้ต่ำกว่า 1 พันจุด บวก/ลบ 30 จุด แต่ก็มองว่าเป็นจังหวะในการซื้อสะสมได้ ส่วนการขายของต่างชาติยังมี แต่ก็คงจะไม่รุนแรง และน่ากลัว หากบ้านเราไม่มีปัญหาอะไรที่รุนแรง การเคลื่อนย้ายของเงินออกไปเดี๋ยวก็กลับมา"นายเทิดศักดิ์ กล่าว
หุ้นที่สามารถลงทุนในช่วงไตรมาส 3 /54 และเป็นหุ้นที่มีโอกาสชนะตลาด ได้แก่ กลุ่ม กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มอาหาร กลุ่มโรงแรม กลุ่มอสังหาริมทรัพย์
ด้านนายนิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปีนี้ น่าจะชะลอลงเล็กน้อยจากช่วงครึ่งแรก อาจจะเป็นประเด็นที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติปรับเปลี่ยนมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทย จากก่อนหน้านี้ที่สำนักวิเคราะห์ต่างชาติมองว่าบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสดใส
นอกจากนี้ ประเด็นทางการเมืองที่กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่ เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในการลงทุน โดยมองว่าในช่วงสั้นอาจมีโอกาสที่จะเห็นการปรับขึ้นของดัชนีได้ แต่หลังจากนั้นคงต้องพิจารณาหลังเลือกตั้งว่านโยบายเป็นอย่างไร ดังนั้นในช่วงรอยต่อควรที่จะลงทุนในธุรกิจที่สามารถทนต่อสภาวะความเสี่ยง
ทั้งนี้ มองว่านโยบายการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ ที่เป็นสัญญาประชาคมที่แต่ละพรรคพยายามชูนโยบายนั้น ถือว่ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญครั้งใหญ่ของไทย เพราะถือว่าเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง รวมถึงการขับเคลื่อนต่อเศรษฐกิจในประเทศด้วย แต่ก็ยอมรับว่าในด้านภาคธุรกิจ การปรับขึ้นค่าแรงงาน ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หลายบริษัทที่จะอยู่ไม่ได้ ดังนั้น ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวให้ธุรกิจอยู่ได้
“เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจริง คนจะมีรายได้มากขึ้น ความมั่งคั่งจะถ่ายโอนมาจากผู้ส่งออกที่เป็นตัวสร้างรายได้หลักของประเทศ มาเป็นการบริโภคและจับจ่ายใช้สอยในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น ถ้าเปลี่ยนแปลงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง เชื่อว่าจะเกิดการใช้จ่ายในประเทศ ผลักดันให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู"นายนิเวศน์ กล่าว