ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ รายละเอียดอันดับเครดิตแสดงอยู่ด้านล่าง
อันดับเครดิตของ BBL สะท้อนถึงผลการดำเนินงาน คุณภาพสินทรัพย์ และระดับของสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความสามารถของธนาคารในการที่จะรักษาสถานะเงินกองทุนและสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้อันดับเครดิตของธนาคารยังคำนึงถึงฐานเงินฝากและเครือข่ายในการดำเนินธุรกิจที่มั่นคงและฟิทช์เชื่อว่าสถานะทางการเงินของ BBL มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะสามารถรองรับผลกระทบจากการปรับตัวลงอย่างรุนแรงของคุณภาพสินเชื่อ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ปัจจุบันอยู่ในอันดับเดียวกันกับเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย และสูงกว่าอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทยอยู่ 1 อันดับ เนื่องจากความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินของตัวธนาคาร รวมถึงการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก และการที่มีการถือหุ้นโดยรัฐบาลไทยในจำนวนที่จำกัด โอกาสที่อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวจะได้รับการปรับขึ้นมีจำกัด นอกจากจะมีการปรับตัวของผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญ และระดับของเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยได้รับการปรับขึ้น
ขณะเดียวกันผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตอาจเกิดจากการที่สินเชื่อมีการกระจุกตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่คุณภาพสินทรัพย์หรือสภาพคล่องจะมีการปรับตัวอ่อนแอลง หรือหากมีการถือครองพันธบัตรรัฐบาลไทยในระดับที่สูงเกินไป อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าความเป็นไปได้ที่จะเกิดสถานการณ์ดังกล่าวในระยะสั้นถึงปานกลางมีไม่มากนัก ซึ่งสะท้อนโดยแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
เนื่องจากขนาดและความสำคัญของ BBL ต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล หากมีความจำเป็น
ธนาคารมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งในปี 2553 และในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่ออยู่ในระดับสูง ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง และประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น ในปี 2554 ฟิทช์คาดว่าผลประกอบการของธนาคารจะยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความสามารถในการปล่อยสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่และการเติบโตของเศรษฐกิจ และการที่ธนาคารมีการขยายธุรกิจไปในภูมิภาคเอเชียมากกว่าธนาคารคู่แข่ง ทำให้ BBL ได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในภูมิภาค
คุณภาพสินทรัพย์มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และสินเชื่อที่จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษมีการปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 3.3% และ 1.5% ของสินเชื่อรวม เนื่องจากการบริหารสินเชื่อที่ดีของ BBL ขณะเดียวกันระดับของสำรองหนี้สงสัยจะสูญยังคงแข็งแกร่งที่สุดในอุตสาหกรรม และรวมทั้งเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นในภูมิภาค อยู่ที่ระดับ 170% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 โดยมีสำรองทั่วไปในระดับที่สูงซึ่งสามารถรองรับความเสี่ยงทางด้านเครดิตในอนาคตได้ ฟิทช์คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของ BBL จะยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนได้แก่ การที่ธนาคารมีระบบการบริหารความเสี่ยงทางด้านเครดิตที่ดี มีการบริหารสินเชื่ออย่างรัดกุม และเศรษฐกิจในประเทศมีการเติบโตมากขึ้น
นอกจากนี้ BBL ยังมีฐานเงินฝากที่มั่นคงและสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดยมีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากตลาดทุนในระดับที่ไม่สูง แม้จะนับรวมการออกตราสารหนี้จำนวน 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 เพื่อรองรับความต้องการใช้เงินทุนที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ สถานะเงินกองทุนของ BBL ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 12.3% และอัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์อยู่ที่ 11.9% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 นอกจากนี้เงินกองทุนยังมีคุณภาพสูงเนื่องจากไม่มีการออกตราสารหนี้กึ่งทุน ฟิทช์คาดว่าธนาคารจะสามารถรักษาระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งได้ต่อไป เนื่องจากกลยุทธ์ในการเติบโตของสินทรัพย์ในระดับพอประมาณ และมีอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ไม่สูงนัก
BBL เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่ง 18% ของตลาดสินเชื่อ และ 20% ของตลาดเงินฝาก ของธนาคารที่จดทะเบียนในประเทศไทย ณ สิ้นปี 2553 ธนาคารถูกก่อตั้งในปี 2487 โดยตระกูลโสภณพนิช ซึ่งสัดส่วนการถือหุ้นได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ธนาคารมีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมีการขยายไปในกลุ่มลูกค้ารายย่อยอย่างต่อเนื่อง