บมจ.ทรูมูฟ บริษัทในเครือ บมจ.ทรู คอร์เปอเรชั่น(TRUE)ได้มอบหมายให้ นางศุภสรณ์ โหรชัยยะ เป็นตัวแทนบริษัทเข้าแจ้งความตำรวจกองปราบปรามให้ดำเนินคดี กับ บมจ.. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) และกลุ่มบุคคล กลุ่มบริษัท ที่มีพฤติกรรมสนับสนุน DTAC มีกลุ่มเทเลนอร์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ประกอบธุรกิจโทรคมนาคม ฝ่าฝืนกฎหมายไทย
ทั้งนี้ มีหลักฐานจากรายงานการพิจารณาเรื่องร้องเรียน กรณีปัญหาการถือหุ้น การครอบงำกิจการ และการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยคนต่างด้าวที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม ของคณะกรรมาธิการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ณ วันที่ 21 เม.ย.54 พบว่า DTAC เป็นต่างด้าวตามกฎหมาย มีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างด้าวมากถึง 71.35% คนไทยถือหุ้น 28.65% กระจายการถือหุ้นให้กลุ่มบุคคลและบริษัทต่างๆถือหุ้นเป็นจำนวนมากแทน
พฤติกรรมของ DTAC ถือว่าหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 4 ที่ระบุว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการสาธารณูปโภคและการให้บริการสาธารณะทั่วประเทศ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรและความมั่นคงของประเทศ
"การแจ้งความครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับ 3 จี เราแยกปัญหาออกจากกัน...เราเชื่อมั่นว่าการแจ้งความคดีนี้ได้ เพื่อต้องการให้กฎหมายชี้ชัดเรื่องสัญชาติ ถ้าไม่เช่นนั้นการแข่งขันที่เท่าเทียมทันคงเกิดขึ้นไม่ได้" นางศุภสรณ์ กล่าว
นางศุภสรณ์ กล่าวว่า บริษัทพร้อมต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ต้องเข้ามาลงทุนอย่างจริงใจ โปร่งใส และเปิดเผยข้อมูลชัดเจน และเนื่องจากดีแทคมีผู้ถือหุ้น คือ เทเลนอร์ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องแสดงตนให้ชัดเจนที่จะเข้ามาทำธุรกิจโทรคมนาคมในไทย ซึ่งเป็นธุรกิจต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าว มิใช่กระจายการถือหุ้นให้กลุ่มบุคคลและกลุ่มบริษัทต่างๆ จำนวนมากเป็นผู้ถือหุ้นแทนเพื่อปกปิดสัญชาติ และทำให้คนทั่วไปหลงผิดว่าเป็นบริษัทสัญชาติไทย
นอกจากนี้ การที่เทเลนอร์เข้ามาประกอบธุรกิจหรือครอบงำกิจการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมดังกล่าวของประเทศ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ สืบเนื่องมาจากคลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรของชาติที่มีค่าและมีใช้อยู่อย่างจำกัดแล้ว ยังจะก่อความเสียหายอย่างมหาศาลแก่ประเทศไทยอีกด้วย
ขณะที่ DTAC แจ้งสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวกับกระทรวงพาณิชย์ไว้เพียง 49% แต่ปรากฏว่า ในความเป็นจริง บริษัทเทเลนอร์ ได้แจ้งข้อมูลการถือหุ้นต่อตลาดหลักทรัพย์ที่ประเทศนอร์เวย์และประเทศสิงคโปร์ว่าถือหุ้นใน DTAC เป็นสัดส่วนประมาณ 66.50% ซึ่งเป็นการกระทำผิด ฝ่าฝืนกฎหมายไทยอย่างชัดแจ้ง เพราะเป็นการประกอบธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ และต้องใช้คลื่นความถี่ (Air wave) ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติที่มีค่าสูงยิ่งและมีอยู่อย่างจำกัด ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้สอดคล้องกับรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร
นายศุภสรณ์ กล่าวว่า การที่บริษัทแจ้งความต่อกองปราบปรามเพื่อดำเนินคดี DTAC เพื่อผลักดันให้มีความชัดเจนในการตีความเรื่องสัญชาติของ DTAC หากมีการตีความที่ชัดเจนโดยศาลแล้ว จะทำให้กรณีต่างๆ ในวงการโทรคมนาคมชัดเจนยิ่งขึ้น
"การแจ้งความให้มีการดำเนินคดี ดีแทค และกลุ่มบุคคลและกลุ่มบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ เพื่อให้มีการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งมิให้มีพฤติกรรมการสนับสนุน และหรือการหลีกเลี่ยงกระบวนการข้อกฎหมายใดๆ ก็ตาม ที่เกี่ยวข้องกับข้อห้ามคนต่างด้าวในการประกอบธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานของการบังคับใช้ทางกฎหมายต่อไป" นางศุภสรณ์ กล่าว