นายอานนท์ ทับเที่ยง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ขณะนี้มีเอกชน 3 รายที่เสนอตัวเป็นผู้ค้าขายส่งและขายบริการต่อ MVNO แบบพันธมิตร(strategic partner) การให้บริการ 3G ของทีโอที ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บมจ.สามารถ ไอ-โมบาย (SIM) และ บมจ.ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายเดือน มิ.ย. หรือ กลางเดือน ก.ค.
"เอไอเอส สามารถฯ ล็อกซเล่ย์ เขาก็ขอมาเยอะเหมือนกัน อยู่ระหว่างการเจรจาอยู่" นายอานนท์ กล่าว
ทั้งนี้ ทีโอที จะกำหนดให้จำนวนเลขหมายกับ MVNO แบบ strategic partner ไม่เกิน 80% ของเลขหมายทั้งหมด 7.2 ล้านเลขหมาย ตามโครงข่ายใหม่ 3G โดย MVNO แบบ strategic partner จะต้องการันตีจำนวนลูกค้า รายได้ ที่แน่นอนให้กับทีโอที ส่วนอีก 10% ให้กับ MVNO รายอื่น และ อีก 10% ทีโอทีจะทำการตลาดเอง
นอกจากนี้ ยังมีเอกชนอีก 4 รายที่เข้ามาดำเนินการเป็น MVNO ทั้งนี้ หากได้ข้อสรุปจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ทีโอที ทันที
ด้านนายประพันธ์ บุญยเกียรติ กรรมการ ทีโอที กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ทีโอที ในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ ฝ่ายบริหารจะรายงานความคืบหน้าการดำเนินการให้บริการ 3G จากทั้งหมดที่เปิดให้เอกชนเข้ามาเป็น MVNO 13 ราย แต่ผ่านคุณสมบัติได้ 7 ราย
ทั้งนี้ การคัดเลือก MVNO แบบ strategic partner ต้องดูจากผลประโยชน์ที่ให้สูงสุด ให้ความมั่นคงของธุรกิจ รวมทั้งต้องมีข้อผูกพัน มีหลักประกันที่มั่นคง โดยจะได้ราคาในส่วนลดที่สูง
"ครั้งนี้เราเหมือนไป survey ตลาด จะมีกี่รายก็ไม่เป็นไร แต่พอนาทีสุดท้าย เรา survey จนเห็นภาพตลาด แล้วก็มากำหนดกติกา ให้ทุกคนยื่นอย่างเป็นทางการ" นายประพันธ์ กล่าว
ส่วน MVNO อีก 2 ระดับ ได้แก่ MVNO ระดับกลาง อาจจะขายส่งราคาสูงกว่า MVNO แบบ strategic partner แต่ข้อผูกพันก็น้อยลง และ MVNO รายย่อย คงไม่ต้องมีข้อผูกพัน โดยจะขายเป็นครั้งๆไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการ 3G คาดว่าจะมีแนวทางสรุปการคัดเลือก MVNO ที่ชัดเจนภายในปลายเดือน มิ.ย.นี้
ทีโอที คาดว่าภายในเดือน พ.ย.54 จะครอบคลุม 18 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สงขลา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต เขียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พิษณุโลก อุดรธานี นครราชสีมา ขอนแก่น หนองคาย และอุบลราชธานี จากนั้นจะครอบคลุมทุกจังหวัดภายในพ.ค.55