บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์(NOBLE) ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" ในขณะเดียวยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB" ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปจ่ายชำระหนี้เดิมและใช้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย
อันดับเครดิตสะท้อนถึงแบรนด์ของบริษัท ซึ่งเป็นที่ยอมรับในตลาดที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงบน ตลอดจนกลยุทธ์การสร้างความแตกต่างของสินค้า และคอนโดมิเนียมที่รอการส่งมอบจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในโครงการคอนโดมิเนียม “โนเบิล เพลินจิต“ มูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัท รวมถึงภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง
การประเมินอันดับเครดิตยังคำนึงถึงลักษณะของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลงและการคาดการณ์ที่ภาวะการแข่งขันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายได้ซื้อที่ดินไว้เป็นจำนวนมากตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2552
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถส่งมอบที่อยู่อาศัยส่วนที่เหลือได้ตามกำหนด อีกทั้งจะสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่กระแสเงินสดเมื่อมีการโอนโครงการคอนโดมิเนียมหลายโครงการ แม้จะมีความต้องการเงินลงทุนจำนวนมากเพื่อใช้ในโครงการ “โนเบิล เพลินจิต" แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับ ณ ปัจจุบันในระหว่างการพัฒนาโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ อัตราการขายโครงการ“โนเบิล เพลินจิต" ควรสอดคล้องกับอัตราการขายโครงการในอดีตของบริษัทเพื่อรักษาอันดับเครดิตเอาไว้ที่ระดับปัจจุบัน เนื่องจากเงินลงทุนจำนวนมากที่บริษัทใช้ในโครงการนี้ส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืม
ทริสเรทติ้งรายงานว่า NOBLE เป็นผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลางซึ่งก่อตั้งในปี 2534 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2539 ตระกูลธนากิจอำนวยและเครือญาติยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท โดย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2554 มีสัดส่วนการถือหุ้นรวมกัน 14% บริษัทเน้นการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมมาตั้งแต่ปี 2549 เนื่องจากแนวโน้มของตลาดที่อยู่อาศัยหันมานิยมการมีที่พักอยู่ในเมืองมากขึ้น ณ สิ้นเดือนเมษายน 2554 บริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัย 15 โครงการ ด้วยมูลค่าเหลือขายประมาณ 3,700 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทมียอดขายที่รอการส่งมอบในช่วงที่เหลือของปี 2554 จนถึงปี 2557 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,100 ล้านบาท ที่อยู่อาศัยในโครงการของบริษัทประกอบด้วยคอนโดมิเนียมซึ่งคิดเป็น 70% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด บ้านเดี่ยว 14% ทาวน์เฮ้าส์ 11% และที่ดินเปล่า 5% การออกแบบที่อยู่อาศัยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวทำให้โครงการของบริษัทมีความแตกต่างไปจากโครงการของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่น
ยอดขายของ NOBLE มีมูลค่าอยู่ที่ 3,759 ล้านบาทในปี 2553 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3,696 ล้านบาทในปี 2552 อันมีสาเหตุหลักมาจากการตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่องของลูกค้าในโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดใหม่คือ “โนเบิล รีดี" และ “โนเบิล รีเวนต์" อย่างไรก็ตาม ยอดขายในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ระดับเพียง 412 ล้านบาท โดยลดลงอย่างมากจาก 1,755 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2553 เนื่องจากไม่มีโครงการเปิดใหม่ในช่วงดังกล่าว ในขณะที่รายได้รวมของบริษัทในปี 2553 อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่จำนวน 5,105 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,938 ล้านบาทในปี 2552
ทั้งนี้ การเติบโตของรายได้มาจากสาเหตุหลักคือการโอนคอนโดมิเนียมโครงการ “โนเบิล รีมิกซ์" “โนเบิล โซโล" และ “โนเบิล รีเฟล็กซ์" อย่างไรก็ตาม รายได้ในไตรมาสแรกของปี 2554 อยู่ที่ 523 ล้านบาท ลดลงอย่างมากจาก 3,002 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอันเนื่องมาจากมีปริมาณการโอนที่ลดลง ทั้งนี้ รายได้ที่ลดลงและภาระหนี้ที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยบั่นทอนฐานะการเงินของบริษัท การสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษีของรัฐบาลในช่วงกลางปี 2553 ทำให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 26.48% ในปี 2553 และ 23.68%
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 จาก 30.46% ในปี 2552 โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงกว่าผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รายอื่น โดยอัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นเป็น 60.82% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 จาก 57.53% ในปี 2553 และ 54.07% ในปี 2552 ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในโครงการ “โนเบิล เพลินจิต"
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ความต้องการที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยปกติภาครัฐมักให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ตลาดที่อยู่อาศัยของไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากแรงกระตุ้นของมาตรการจูงใจด้านภาษีของภาครัฐในช่วงปี 2551-2553 และภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม ตลาดที่อยู่อาศัยอยู่ในสภาวะทรงตัวตลอดปี 2553
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหลายรายได้เร่งซื้อที่ดินเพิ่มตั้งแต่ปลายปี 2552 ซึ่งส่งผลทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของผู้ประกอบการหลายรายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปี 2553 การเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV Ratio) ของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2554 และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงวงจรขาขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่คาดว่าจะชะลอความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการเก็งกำไรในตลาดคอนโดมิเนียมลงและลดทอนความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น จึงคาดว่าอัตราการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยในปีนี้จะต่ำลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายน่าจะแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากผู้ประกอบการรายเล็กเพราะผู้ประกอบการรายใหญ่พยายามเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจโดยการเข้าไปแข่งขันในตลาดที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่ต่ำลง สถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นสาเหตุที่ทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งกว่าในอดีต