บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทของ บมจ. ฐิติกร (TK) ที่ระดับ “A-" พร้อมทั้งประกาศคงผลอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A-" เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้และใช้ในการขยายสินเชื่อในอนาคต
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ตลอดจนความสามารถของบริษัทในการดำรงสถานะผู้นำตลาด การมีเครือข่ายสาขาที่กว้างขวาง ความสามารถในการทำกำไรที่ต่อเนื่อง และโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังคงมีแรงกดดันจากความเสี่ยงจากการมีผลิตภัณฑ์หลักเพียงประเภทเดียวคือสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีความอ่อนไหวต่อการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจ
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าคณะผู้บริหารที่มีความสามารถและเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางจะช่วยให้บริษัทสามารถดำรงสถานะผู้นำตลาดและผลประกอบการทางการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่งต่อไปได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับฐานทุนที่แข็งแกร่งในปัจจุบันเอาไว้เพื่อช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ โดยที่ระดับฐานทุนที่แข็งแกร่งยังมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจของบริษัทในอนาคตด้วย
ทริสเรทติ้งรายงานว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาส่งผลทำให้สินเชื่อรถจักรยานยนต์คงค้างของ TK เติบโตเพิ่มขึ้น 11.2% เป็น 5,806 ล้านบาทในปี 2553 หลังจากที่เพิ่มขึ้น 4.6% ในปี 2552 ทั้งนี้ เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา บริษัทเป็นผู้นำตลาดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อพิจารณาจากจำนวนบัญชีสินเชื่อใหม่ โดยในปี 2553 มีส่วนแบ่งทางการตลาดในสัดส่วน 25% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปี 2552 ทั้งนี้ คณะผู้บริหารและพนักงานที่มีประสบการณ์ยาวนาน ตลอดจนเครือข่ายสาขาที่กว้างขวาง และระบบการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพน่าจะช่วยสนับสนุนความพยายามของบริษัทที่จะดำรงสถานะผู้นำในตลาดเอาไว้ให้ได้
บริษัทมีสาขาที่กระจายตัวอย่างกว้างขวางและทั่วถึงมากกว่าคู่แข่ง โดยมีการให้บริการผ่านสาขาที่ครอบคลุม 45 จังหวัดทั่วประเทศ เครือข่ายสาขาที่เข้มแข็งส่งผลให้บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ ซึ่งมักจะเน้นเฉพาะลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถจำหน่ายรถจักรยายนต์ที่ยึดคืนมาในราคาที่สูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากทั้งความต้องการที่สูงขึ้นและการมีศูนย์ปรับสภาพรถของตนเอง ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 49.2% ในปี 2553 จาก 56.7% ในปี 2552
และกำไรสุทธิก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 60% ในปี 2553 มาอยู่ที่ระดับ 532 ล้านบาท จาก 334 ล้านบาทในปี 2552 กำไรสุทธิยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 146 ล้านบาทสำหรับไตรมาสแรกของปี 2554 เมื่อเทียบกับ 126 ล้านบาทสำหรับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากระดับ 5.3% ในปี 2552 เป็น 7.4% ในปี 2553 อัตราส่วนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในไตรมาสแรกของปี 2554 มาที่ระดับ 7.5% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว)
ตั้งแต่ปลายปี 2551 บริษัทกลับมาให้ความสำคัญกับการขยายสินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้นโดยผ่านบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้นเต็ม 100% คือ บริษัท ชยภาค จำกัด ทั้งนี้ ในช่วงปี 2548-2551 บริษัทชยภาคได้ลดปริมาณสินเชื่อรถยนต์ลงเนื่องจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง โดยสินเชื่อรถยนต์คงค้างลดลง 60% จาก 1,497 ล้านบาทในปี 2548 เหลือ 596 ล้านบาทในปี 2551 หรือคิดเป็น 11% ของสินเชื่อคงค้างรวมของบริษัท ประมาณ 70% ของสินเชื่อรถยนต์ของบริษัท ณ สิ้นปี 2551 เป็นสินเชื่อรถยนต์มือสอง
อย่างไรก็ตาม สินเชื่อรถยนต์เริ่มขยายตัวอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 บริษัทเริ่มเน้นการให้สินเชื่อรถยนต์ใหม่ซึ่งมีคุณภาพในแง่ของผลิตภัณฑ์ที่สูงกว่ารถยนต์มือสอง ทั้งนี้ สินเชื่อรถยนต์คงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า มาอยู่ที่ 1,137 ล้านบาทในปี 2552 และเพิ่มขึ้นเป็น 1,522 ล้านบาทในปี 2553 ซึ่งเพิ่มเป็น 21% ของสินเชื่อรวมคงค้างของบริษัท อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทยังคงขึ้นอยู่กับผลประกอบการของสินเชื่อรถจักรยานยนต์เป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง
ที่ผ่านมา บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีไปพร้อมกับการสร้างผลกำไรให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 3.4% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 จาก 3.8% ในปี 2553 อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นจาก 83.2% ในปี 2549 มาอยู่ที่ระดับ 144.0% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 ผู้ถือหุ้นได้อนุมัติการครอบครองกิจการโดยการซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท เซทเทเลม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก 100% ของ BNP Paribars Personal Finance S.A. บริษัทเซทเทเลมก่อตั้งในปี 2542 เพื่อให้บริการสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลหรือสินเชื่อเงินผ่อนสำหรับซื้อสินค้า บริษัทเซทเทเลมหยุดดำเนินกิจการโดยยุติการอนุมัติสินเชื่อใหม่มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552
ณ สิ้นปี 2553 สินทรัพย์รวมของเซทเทเลม ประกอบไปด้วยเงินสดจำนวน 120 ล้านบาทและสินทรัพย์อื่น ๆ อีก 12.6 ล้านบาท ในขณะที่หนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้นประกอบด้วยรายจ่ายค้างจ่ายจำนวน 24.1 ล้านบาทและส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 108.5 ล้านบาท บริษัทได้ดำเนินการซื้อหุ้นทั้งหมดของเซทเทเลมรวมมูลค่าทั้งสิ้น 200 ล้านบาท และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีเค เด็บท์ เซอร์วิสเซส จำกัด เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2554 โดยที่ฐานลูกค้าของบริษัทเซทเทเลมจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับฐานลูกค้าของบริษัท
ในเบื้องต้นจึงคาดว่าบริษัทจะได้ประโยชน์จากฐานข้อมูลลูกค้าของบริษัทเซทเทเลมทั้งในส่วนของบัญชีลูกค้าต้องห้าม (Black list) และการเพิ่มประสิทธิภาพขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อ สำหรับประโยชน์จากการซื้อกิจการของบริษัทเซทเทเลมในด้านอื่น ๆ นั้นยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป