พาณิชย์พบพิรุธผถห.ฝ่ายไทย DTACแต่มีทางออกทำธุรกิจต่อได้แม้เป็นต่างด้าว

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 22, 2011 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า จากการตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) เบื้องต้นพบข้อพิรุธบางบริษัทที่เป็นผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยที่น่าเชื่อได้ว่าอาจจะเป็นนอมินีของต่างชาติ รวมทั้งพบข้อพิรุธในนิติบุคคลฝ่ายผู้ถือหุ้นต่างชาติบางรายด้วย ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีดังกล่าวได้ตั้งคณะทำงานชุดย่อยเพื่อเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาพบเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมตั้งแต่วันพรุ่งนี้(23 มิ.ย.)เป็นต้นไป

คณะทำงานจะเชิญทั้งฝ่ายบริษัท ทรูมูฟ ที่เป็นผู้ร้องขอให้ตรวจสอบ และฝ่ายของ DTAC มาให้ข้อมูล รวมทั้งเชิญกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ DTAC ที่เป็นนิติบุคคล 10 ราย และบุคคลธรรมดามาให้ข้อมูล โดยขณะนี้พบว่านิติบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นทั้ง 10 ราย มีบางบริษัทส่อพิรุธ ซึ่ง 1 ในนั้นคือ บริษัท ไทยเทลโก้ โฮลดิ้งส์ ที่ถือหุ้น 23% ในข้างผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยที่ถือหุ้นรวมกัน 51%

ขณะที่พบข้อพิรุธในฝ่ายผู้ถือหุ้นต่างชาติที่ถือหุ้นรวมกัน 49% มีบริษัท ตั๊กวู โฮลดิ้ง สัญญาชาติบริติช เวอร์จิ้น และบริษัท เทเลนอร์ เอเยน สิงคโปร์ ถือหุ้นอยู่ 40% มีที่ตั้งบริษัทเดียวกัน กรรมการกลุ่มเดียวกัน และแหล่งเงินทุนมาจากที่เดียวกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป

"DTAC มีการถือหุ้นไขว้ไปไขว้มา 5 ชั้น ถ้าพบว่าชั้นใดชั้นหนึ่งมีสถานะเป็นต่างด้าวก็จะทำให้สถานะของ DTAC มีปัญหาทันที เพราะเกือบทั้ง 5 ชั้นที่อ้างว่าเป็นบริษัทไทยจะมีถือการถือหุ้นร่วมกับต่างชาติในสัดส่วน 51 ต่อ 49 ยกเว้นชั้น 4 ที่มีคนไทยถือหุ้นทั้ง 100%" นายบรรยงค์ กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบฯ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากกรมฯ กรมสรรพากร คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)จะนำข้อมูลต่างๆ จากคณะทำงานไปพิจารณาตรวจสอบและกำหนดให้ได้ผลสรุปภายใน 10 วัน แต่หากไม่แล้วเสร็จก็อาจขอขยายเวลาได้

นายบรรยงค์ กล่าวว่า หากผลสรุปการตรวจสอบออกมาว่า DTAC เป็นบริษัทต่างด้าวก็จะมีความผิดตามมาตรา 36 ใน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เนื่องจากกิจการโทรคมนาคมอยู่ในบัญชีแนบท้ายที่ 3 ซึ่งต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ภายในอำนาจของอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจ มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับ 1 แสนบาทถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งศาลจะต้องสั่งให้หยุดดำเนินกิจการ ถ้าฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1-5 หมื่นบาท/วัน

ส่วนผู้ถือหุ้นคนไทยก็จะมีความผิดด้วยในฐานะนอมินี ซึ่งเป็นความผิดสถานเดียวกัน และศาลสั่งหยุดการถือหุ้นแทน หากฝ่าฝืนปรับ 1-5 หมื่นบาท/วัน ส่วนคนต่างด้าวที่ให้คนไทยถือหุ้นแทนก็จะมีความผิดเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหากเกิดกรณีที่ DTAC เป็นธุรกิจของคนต่างด้าวจริง และถือว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว แต่ในระหว่างที่ศาลสั่งให้หยุดดำเนินการกิจการ ทาง DTAC ก็สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นให้ถูกต้องตามกฎหมาย และขออนุญาตดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมต่อคณะกรรมการประกอบธุรกิจคนต่างด้าวได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ