บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของ บมจ. แสนสิริ (SIRI) ที่ระดับ “BBB" พร้อมทั้งประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “BBB+" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำ ตลอดจนผลงานที่ได้รับการยอมรับในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย แบรนด์ที่มีชื่อเสียงในตลาดคอนโดมิเนียม ความหลากหลายของสินค้า และยอดขายรอการส่งมอบจำนวนมากที่เป็นหลักประกันรายได้ของบริษัท อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงไปบางส่วนจากการมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่อยู่ในระดับสูง
การประเมินอันดับเครดิตยังคำนึงถึงลักษณะของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นวงจรขึ้นลงและการคาดการณ์ที่ภาวะการแข่งขันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายซื้อที่ดินไว้เป็นจำนวนมากตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2553 แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถส่งมอบที่อยู่อาศัยส่วนที่เหลือได้ตามกำหนด อีกทั้งจะสามารถเสริมสภาพคล่องให้แข็งแกร่งขึ้นหลังจากที่บริษัทสามารถโอนโครงการคอนโดมิเนียมหลายโครงการในระหว่างช่วงหลังของปี 2554-2556 บริษัทมีความท้าทายในการที่จะดำรงอัตรากำไรจากการดำเนินงานให้อยู่ในระดับเดียวกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำรายอื่น ในขณะเดียวกัน บริษัทควรจะรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนไม่ให้สูงกว่าระดับปัจจุบันแม้จะยังขยายโครงการจำนวนมาก
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทแสนสิริเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ณ เดือนมีนาคม 2554 บริษัทมีโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมเพื่อขายจำนวน 53 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 65,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นโครงการคอนโดมิเนียม 49% บ้านเดี่ยว 34% และทาวน์เฮ้าส์ 17% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด ราคาขายเฉลี่ยของที่อยู่อาศัยโดยรวมอยู่ที่ 4 ล้านบาทต่อหน่วย บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้ประมาณ 25,000 ล้านบาท และมีมูลค่าโครงการพร้อมขายอีกประมาณ 23,000 ล้านบาท บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากการมีแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี รวมถึงการมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่แข็งแกร่ง และสินค้าที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดคอนโดมิเนียม ยอดขายของบริษัทขึ้นสู่สถิติสูงสุดที่ระดับ 24,995 ล้านบาทในปี 2553 โดยเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 13,964 ล้านบาทในปี 2552 และ 10,446 ล้านบาทในปี 2551 อันเป็นผลจากการมียอดขายที่เพิ่มขึ้นในโครงการคอนโดมิเนียม โครงการคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ที่เปิดตัวในปี 2553 ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า
ทั้งนี้ ยอดขายคอนโดมิเนียมพุ่งขึ้นเป็น 14,486 ล้านบาทในปี 2553 ซึ่งสูงกว่าระดับ 6,315 ล้านบาทในปี 2552 เป็นอย่างมาก ยอดขายของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 4,436 ล้านบาท โดยลดลง 5% จาก 4,683 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2553 จำนวนยอดขายที่สูงบ่งบอกถึงยอดขายที่รอการส่งมอบจำนวนมาก รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 18% เป็น 18,596 ล้านบาทในปี 2553 จาก 15,824 ล้านบาทในปี 2552 รายได้รวมในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ 3,614 ล้านบาท ลดลง 47% จากช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 6,811 ล้านบาท การลดลงของรายได้เป็นผลมาจากการสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษีของรัฐบาลในช่วงกลางปี 2553 ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในไตรมาสแรกของปี 2553 ให้สูงกว่าระดับปกติ อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วงระหว่างปี 2553 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2554
อย่างไรก็ตาม การสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษีของรัฐบาลและการส่งเสริมด้านการตลาดที่มากขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทสูงขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานที่ปรับปรุงแล้วลดลงเป็น 15.03% ในปี 2553 และ 12.08% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2554 จาก 18.19% ในปี 2552 บริษัทมีกระแสเงินสดที่อ่อนตัวลง โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเป็น 10.24% ในปี 2553 จาก 12.05% ในปี 2552 และอยู่ที่ 1.36% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 การขยายโครงการจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับสูงกว่าผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายราย โดยอยู่ที่ระดับ 62%-63% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 และสิ้นเดือนมีนาคม 2554
ทริสเรทติ้งกล่าวถึงความต้องการที่อยู่อาศัยว่าขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยปกติภาครัฐมักให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ตลาดที่อยู่อาศัยของไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากแรงกระตุ้นของมาตรการจูงใจด้านภาษีของภาครัฐในช่วงปี 2551-2553 และภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตาม ตลาดที่อยู่อาศัยอยู่ในสภาวะทรงตัวตลอดปี 2553 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหลายรายได้เร่งซื้อที่ดินเพิ่มตั้งแต่ปลายปี 2552 ซึ่งส่งผลทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของผู้ประกอบการหลายรายเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปี 2553
การเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV Ratio) ของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2554 และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงวงจรขาขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่คาดว่าจะชะลอความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการเก็งกำไรในตลาดคอนโดมิเนียมลงและลดทอนความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น จึงคาดว่าอัตราการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยในปีนี้จะต่ำลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายน่าจะแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากผู้ประกอบการรายเล็กเพราะผู้ประกอบการรายใหญ่พยายามเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจโดยการเข้าไปแข่งขันในตลาดที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่ต่ำลง สถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นสาเหตุที่ทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งกว่าในอดีต