นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บมจ. ปตท. (PTT)คาดว่า บริษัทจะสามารถปิดวาล์วท่อก๊าซให้ได้ภายในวันที่ 2 ก.ค.54 เพื่อหยุดการรั่วไหลของก๊าซ และหลังจากนั้นจะดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนจะซ่อมบำรุงในส่วนที่เสียหาย
เหตุท่อส่งก๊าซธรรมชาติรั่ว ซึ่งเป็นท่อฯ ต่อเชื่อมระหว่างท่อฯ ประธานในทะเลขนาด 34 นิ้ว (ท่อเส้นที่ 1) กับท่อกิ่ง (24 นิ้ว) ที่ส่งก๊าซฯ มาจากแหล่งปลาทอง เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เบื้องต้นพบว่าความเสียหายไม่ส่งผลกระทบต่อท่อประธานหลักและวาล์วท่อก๊าซเส้นที่ 1 และหากไม่พบว่ามีน้ำทะเลรั่วซึมเข้าท่อแขนงที่เสียหาย ก็น่าจะสามารถกลับมาส่งก๊าซตามปกติได้อย่างรวดเร็ว
แต่หากพบว่ามีน้ำทะเลอยู่ในท่อฯ ก็ต้องใช้เวลากำจัดน้ำออกจากระบบฯ ก่อนที่จะกลับมาส่งก๊าซฯ ได้อีกครั้ง ท่อกิ่งขนาด 24 นิ้วที่เกิดจากการแตกและฉีกขาด ปตท.อยู่ระหว่างการจัดเตรียมอุปกรณ์เพื่อส่งนักประดาน้ำลงไปปิดวาล์ว เพื่อตัดแยกระบบฯ คาดว่าจะสามารถปิดวาล์วได้ภายในวันที่ 2 ก.ค.นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมอุปกรณ์ เพราะอุปกรณ์จะเข้ามาประเทศสิงคโปร์วันนี้ หลังจากนั้นจะดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อเตรียมการซ่อมแซมต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปตท.ยืนยันว่าระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศจะไม่ได้รับผลกระทบ และปตท.จะบริหารการผลิตของโรงแยกก๊าซฯ ให้สอดคล้องกับความต้องการ โดยไม่มีการหยุดเดินเครื่อง ขณะเดียวกัน ปตท.จะจัดหาเชื้อเพลิงทดแทน โดยเบื้องต้นได้จัดหาน้ำมันเตาในปริมาณ 10 ล้านลิตรต่อวัน และจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)เพิ่มอีก 70,000 ตัน คาดว่าจะมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ
นายไพรินทร์ ยังกล่าวว่า ความเสียหายของท่อก๊าซที่เกิดรอยรั่วนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตโรงแครกเกอร์ของ บมจ.ปตท.เคมิคอล(PTTCH) เนื่องจากบริษัทมีแผนปิดซ่อมบำรุงราวกลางเดือน ก.ค. 54 อยู่แล้วหลังดำเนินการมาครบ 1 ปี ดังนั้นปัญหาการขาดแคลนก๊าซในการผลิตจึงไม่เกิดขึ้น
ประกอบกับ โรงแยกก๊าซฯ แห่งที่ 5 ที่ตั้งอยู่ที่ จ.ระยอง ซึ่งปิดซ่อมบำรุงไปเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เริ่มเปิดเดินเครื่องแล้ว แต่ยังเดินเครื่องได้ไม่เต็มกำลังการผลิต ทำให้ปริมาณการใช้ก๊าซฯ ในช่วงนี้ไม่มากนัก สามารถที่จะบริหารจัดการได้ จึงมีก๊าซฯ เหลือที่จะสามารถนำมาจัดส่งให้กับ กฟผ.เพิ่มได้
สำหรับการจ่ายชดเชยค่าเสียหาย ผู้กระทำผิดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นจะเกิดจาก บริษัท ฮุนได ที่ดำเนินการวางท่อก๊าซฯ ในอ่าวไทย เพื่อเชื่อมแหล่งปลาทองกับท่อประธานฯ ที่ 3 มีการยกสมอเรือเพื่อข้ามท่อ แต่ไปโดนท่อก๊าซฯ รั่ว ซึ่งจะต้องมีการสืบสวนข้อเท็จจริง และดำเนินการตามข้อสัญญาที่ว่าจ้าง ส่วนเรื่องความรับผิดชอบของภาระที่เพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)เป็นผู้กำหนด ส่วนเรื่องประกันภัยก็มีอยู่แล้วทั้งในส่วนของผู้รับเหมา และภาพรวม
ด้านนายวิชัย พรกีรติวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ PTT กล่าวว่า ระหว่างดำเนินการปิดวาล์วท่อ ปตท.ได้มีการสำรองน้ำมันเตาและก๊าซแอลเอ็นจีเพียงพอในการป้อนโรงไฟฟ้า คือ มีการลดการใช้น้ำมันเตาในโรงแยกก๊าซฯ เพื่อดึงน้ำมันเตาในสต๊อกของ ปตท. จำนวน 120 ล้านลิตรส่งเข้าโรงไฟฟ้าของ กฟผ. วันละประมาณ 10 ล้าน ลิตร ทยอยส่งป้อนเข้าโรงไฟฟ้า กฟผ. แล้ว
รวมทั้งเร่งจัดหาน้ำมันเตากำมะถันต่ำร้อยละ 0.5 จากประเทศสิงคโปร์เพิ่มเติมอีก 30 ล้านลิตรซื้อจากตลาดสิงคโปร์ เพื่อมาสำรองไว้ใช้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน
ส่วนการจัดหาก๊าซแอลเอ็นจี เรือลำที่ 4 จำนวน 70,000 ตัน ขณะนี้ค่อนข้างหายาก เพราะส่วนใหญ่ส่งให้ญี่ปุ่นใช้ สำหรับเรือก๊าซแอลเอ็นจีลำที่ 3 เข้าเทียบท่าไทยวันนี้ พร้อมย้ำไม่มีการลดปริมาณจัดส่งก๊าซแอลพีจีภาคขนส่งและครัวเรือน
ขณะที่นายสุพจน์ เหล่าสุอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกฎหมายของ PTT กล่าวว่า ปตท.ทำประกันความเสียหายไว้กับบมจ.ทิพยประกันภัย (TIP) และมีการนำไปประกันภัยต่อกับบริษัทต่างประเทศ ในวงเงินประกันรวมไว้กับทรัพย์สินของ ปตท. ทั้งหมด ซึ่งไม่ได้แบ่งสัดส่วนเป็นวงในส่วนใดโดยเฉพาะ
ทั้งนี้ ฝ่ายกฎหมายของ ปตท. มีการเตรียมข้อมูล พยาน หลักฐาน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบต่อไป โดยในแง่ของกฎหมายของ ปตท. ขณะนี้ยังไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากต้องรอฝ่ายวิศวกรตรวจสอบและแจ้งให้ทราบ โดยเราได้เตรียมพยานหลักฐานไว้แล้ว รวมทั้งเรือของบริษัท ฮุนได เฮฟวี อันดัสทรี จำกัด ที่ถอนสมอและเกิดความเสียหายดังกล่าว มีการทำประกันไว้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป