ศาลฯลงโทษอดีตผู้บริหาร IEC กรณีลงข้อความเท็จในรายงานบอร์ด-กระทำทุจริต

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 4, 2011 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาลงโทษนายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง (IEC) กรณีลงข้อความเท็จในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อลวงให้ IEC หรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของ IEC และกระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยให้จำคุก 4 ปี 12 เดือน และปรับ 1,178,250,000 บาท

สืบเนื่องจากวันที่ 28 พ.ย.42 ก.ล.ต. กล่าวโทษนายสุรเดช กรณีลงข้อความเท็จในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทที่มีข้อความว่าที่ประชุมคณะกรรมการของ IEC ได้อนุมัติให้ IEC เข้าทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ของ บมจ.เดอะ เอ็ม.กรุ๊ป ต่อธนาคารกรุงไทย และได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินของบริษัทเดอะ เอ็ม.กรุ๊ปฯ ต่อธนาคารกรุงไทยฯ ในนามของ IEC อันเป็นกิจการที่เกินขอบเขตที่คณะกรรมการของ IEC ได้กำหนดไว้และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของ IEC ก่อน ทำให้ IEC มีภาระหนี้ค้ำประกันจำนวน 1,178 ล้านบาท อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 307 311 312(2) ประกอบ 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.54 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่านายสุรเดช มีความผิดตามมาตรา 307 311 312(2) และ 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ การกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยลงโทษ (1) ฐานเป็นกรรมการลงข้อความเท็จในรายงานการประชุมเพื่อลวงให้นิติบุคคลหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ตามมาตรา 312(2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ให้จำคุก 5 ปี และปรับ 500,000 บาท

และ (2) ฐานเป็นกรรมการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของนิติบุคคล และ (3) ฐานเป็นกรรมการกระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นตามมาตรา 307 311 ประกอบ 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงลงโทษตามมาตรา 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุก 5 ปี และปรับ 2,356,000,000 บาท

แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่ง เหลือกระทงละ 2 ปี 6 เดือน ปรับกระทงละ 250,000 บาท และ 1,178,000,000 บาท ตามลำดับ รวมลงโทษจำคุก 4 ปี 12 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และปรับ 1,178,250,000 บาท

การดำเนินคดีนี้เป็นผลจากความร่วมมือของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 3 สำนักงานอัยการสูงสุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ