บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating) แก่ธนาคารธนชาต (TBANK) ที่ ‘BBB-’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และให้อันดับเครดิตสนันสนุนขั้นต่ำที่ ‘BB+’ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของบมจ.ทุนธนชาต (TCAP) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ และถือหุ้น 51% ใน TBANK
อันดับเครดิตของ TBANK สะท้อนถึงระดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารและการที่ธนาคารมีความสำคัญต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจมากขึ้นหลังจากการเข้าซื้อกิจการของธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) ในช่วงกลางปี 2553 ซึ่งช่วยให้ธนาคารมีเครือข่ายการดำเนินงานในด้านสินเชื่อและเงินฝากที่แข็งแกร่งขึ้น นอกจากนี้สินเชื่อรายใหญ่และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ของ SCIB ยังช่วยให้สินเชื่อของ TBANK มีการกระจายตัวของสินเชื่อในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น โดยส่งผลให้สัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของ TBANK ลดลงเป็น 41% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 เทียบกับกว่า 70% ก่อนการควบรวมธนาคาร
TBANK มีกำไรสุทธิตามงบการเงินรวมเพิ่มขึ้น 224% ในปี 2553 จากปี 2552 และเพิ่มขึ้น 24.3% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 (เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2553) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการควบรวมกับ SCIB
อย่างไรก็ตาม TBANK ยังคงมีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2553 (เพิ่มขึ้น 13.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) และในไตรมาส 1 ปี 2554 (เพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบจาก ณ สิ้นปี 2553) โดยเป็นผลจากยอดขายรถยนต์ใหม่ที่เพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2553
TBANK มีอัตราส่วนต่างกำไรดอกเบี้ยสุทธิ (รวมเงินสมทบที่จ่ายให้แก่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก) ลดลงมาที่ 3.2% ในไตรมาส 1 ปี 2554 จาก 3.9% ในไตรมาส 1 ปี 2553 เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROAA) และ อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ที่ระดับ 1.04% และ 12.44% ตามลำดับ ในไตรมาส 1 ปี 2554 ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์อื่น
คุณภาพของสินทรัพย์ของ TBANK ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของธนาคาร จากการควบรวมกับ SCIB ซึ่งมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยกว่า ทั้งนี้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวมของ TBANK และ SCIB เพิ่มขึ้นเป็น 38.8 พันล้านบาท (6.3% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 จาก 8.4 พันล้านบาท (2.9%) ก่อนการควบรวม สินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 35.4 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 จากระดับ 19 พันล้านบาท ก่อนการควบรวม การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญอยู่ในระดับคงที่ ซึ่งทำให้อัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญของ TBANK ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 69% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในไทยที่ 90% ธนาคารจึงอาจมีความเสี่ยงในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น
TBANK มีความสามารถในการระดมเงินฝากที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์จากเครือข่ายด้านเงินฝากที่แข็งแกร่งกว่าของ SCIB ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก(รวมตั๋วแลกเงิน) อยู่ที่ 94.3% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 เทียบกับค่าเฉลี่ย ของ 6 ธนาคารใหญ่ที่ 91% อัตราส่วนการถือครองสินทรัพย์สภาพคล่อง (เงินสด รายการระหว่างธนาคาร และเงินลงทุน) ต่อ เงินฝากและเงินกู้ยืมระยะสั้น (รายการระหว่างธนาคารและตั๋วแลกเงิน) อยู่ในระดับที่ประมาณ 30% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 ซึ่งใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์อื่น
สถานะเงินกองทุนของธนาคารแข็งแกร่งขึ้น โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 11.4% และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมอยู่ที่ 14.4% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 ซึ่งเกิดจากการเพิ่มทุนจำนวน 35.8 พันล้านบาทในปี 2553 ถึงแม้ว่าธนาคารต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะไม่นับรวมค่าความนิยมจำนวน 18.7 พันล้านบาทที่เกิดจากการเข้าซื้อ SCIB ในการคำนวณสถานะเงินกองทุน ธนาคารคาดว่าเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะยังคงสูงกว่า 10% ซึ่งยังคงสูงกว่าระดับขั้นต่ำที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น รวมถึงแหล่งเงินทุน สภาพคล่อง และระดับของเงินกองทุนที่พอเพียง การเพิ่มขึ้นของการถือหุ้นและระดับการสนับสนุนของธนาคารโนวา สโกเทีย (BNS: ‘AA-’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) หรือการปรับตัวของคุณภาพสินทรัพย์และผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบในทางบวกต่ออันดับเครดิตของ TBANK ในขณะที่คุณภาพของสินทรัพย์และระดับของเงินกองทุนที่ด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญอาจส่งผลในทางลบต่ออันดับเครดิตของธนาคารได้
อันดับเครดิตของ TCAP อยู่ต่ำกว่า TBANK 1 ขั้น มีเหตุผลมาจากการที่ TCAP มีโครงสร้างเป็นบริษัทโฮลดิ้งซึ่งต้องพึ่งพารายได้จากบริษัทลูก อัตราส่วนเงินลงทุนในบริษัทลูกต่อส่วนของผู้ถือหุ้น และสัดส่วนการถือหุ้นที่ 50.9% ใน TBANK ในส่วนของงบการเงินเฉพาะกิจการ TCAP มีขนาดของสินเชื่อที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 1.4 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 จากระดับ 1.6 พันล้านบาท ในปี 2553 และระดับ 4.1 พันล้านบาทในปี 2552 กำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะของ TCAP ลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2553 และในไตรมาส 1 ปี 2554 จากกำไรจากเงินลงทุนที่ลดลงและการปรับตัวลดลงของรายได้ดอกเบี้ย แม้อัตราส่วนเงินลงทุนในบริษัทลูกต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของ TCAP จะอยู่ในระดับคงที่แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 112% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 เทียบกับระดับประมาณ 50% ก่อนการเข้าซื้อกิจการ SCIB
อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวน่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทไม่มีแผนที่จะซื้อกิจการอื่นและยังไม่มีแผนที่จะเพิ่มทุน นอกจากนี้ TCAP ยังคงมีส่วนของผู้ถือหุ้นที่อยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ที่ 67.2% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 เทียบกับ 66.2% ณ สิ้นปี 2553