นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โซลาร์ตรอน (SOLAR) คาดว่า รายได้ปี 54 มีโอกาสแตะ 1 พันล้าน หรือเติบโตมากกว่า 100% จากปี 53 ที่มีรายได้ 222.65 ล้านบาท ขณะที่ขาดทุนสะสมก็คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 40.51 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทดแทนมีมากขึ้น ประกอบกับราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตามปริมาณของวัตถุดิบที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมากในตลาดโลก
"รายได้ปี 54 คงอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านต้นๆ เติบโตหลัก 100% เฉพาะตัวโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 44 เมกะวัตต์ ของบางจาก ก็น่าจะได้แล้ว 1.3 พันล้านบาท ส่วนปี 55 น่าจะอยู่ที่ 1 พันล้านกลางๆ หลังจะมีอีกหลายโครงการที่จะ COD และก็จะมีโครงการในต่างประเทศทั้งที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่จะเปิดบิด ส่วนปีต่อๆไปก็คงขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ"นางปัทมา กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1/54 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้แล้ว 585.39 ล้านบาท มากกว่าปี 53 ทั้งปี และมีกำไรสุทธิ 20.81 ล้านบาท สำหรับแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/54 ก็คาดว่าจะออกมาใกล้เคียงกับไตรมาส 1/54
ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปี 54 บริษัทคาดว่าจะได้รับงานโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในโครงการต่างๆของภาคเอกชนที่จะเปิดประมูล คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งที่ 2 ของบมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) มูลค่าโครงการ 1 พันล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทก็ได้รับเลือกเป็นผู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งแรกมาแล้ว โดยโครงการดังกล่าวตั้งอยู่ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีกำลังการผลิต 44 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการประมาณ 4.2 พันล้านบาท
*ตั้งเป้า 3-5 ปีเป็นผู้นำโซล่าร์เซลส์ในอาเซียน-เล็งเพิ่มทุนหลาบร้อยลบ.ขยายธุรกิจ
นางปัทมา กล่าวว่า บริษัทมีแผนการเพิ่มกำลังการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์เป็น 100 เมกะวัตต์ต่อปี จากปัจจุบันที่ 30 เมกะวัตต์ต่อปี คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ภายในไตรมาส 1/55 โดยบริษัทมีต้นทุนราคาวัตถุดิบที่มีความได้เปรียบคู่แข่งรายอื่นๆ เนื่องจากมีพันธมิตรคอยช่วยสนับสนุน โดยจะขายวัตถุดิบให้ในราคาทุน
ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทตั้งเป้าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ภายใต้กลยุทธ์การลดต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตแผงโซลาร์เซลส์ประเภทคริสตัลไลน์ และจะผลักดันให้เป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำลง เพื่อสร้างความคุ้มค่าในการลงทุนสูงสุดให้กับผู้ผลิตไฟฟ้า
หลังจากช่วงต้นปีที่ผ่านมาบริษัทได้มีการขยายความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรต่างชาติ โดยได้บรรลุข้อตกลงในการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัท GCL Poly Energy Holding จำกัด (GCL) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเวเฟอร์ที่เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยทาง GCL จะช่วยซัพพลายวัตถุดิบเวเฟอร์ให้บริษัทในราคาทุน พร้อมทั้งมอบหมายให้บริษัทเป็นผู้แทนในการจำหน่ายเวเฟอร์ในตลาดกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย
"เราได้บรรลุข้อตกลงในการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเบื้องต้นกับกลุ่ม GCL ในการซัพพลายเวเฟอร์ในราคาทุน และทาง GCL จะใช้เราในการเป็นช่องทางการเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งนอกจากจะซัพพลายเวเฟอร์แล้ว ยังจะจับมือกับเราในการเป็นแหล่งทุนสำหรับการขยายตลาดสู่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเพื่อนบ้านด้วย"นางปัทมา กล่าว
บริษัทได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการให้ความร่วมมือทางด้านวิศวกรรมกับ GCL ไปแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา และจะมีการลงนามใน MOU เพื่อสนับสนุนในส่วนของเวเฟอร์ในราคาทุนก่อนสิ้นปีนี้
ส่วนบริษัท ซันเทค จำกัด ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเดิมที่เข้ารับงานการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ของ BCP กำลังการผลิต 44 เมกะวัตต์ ก็ได้มีการเข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมกับป้อนวัตถุดิบแผ่นโซลาร์เซลส์ให้กับบริษัทเพื่อผลิตแผงโซลาร์ในการเข้าไปบุกตลาดอาเซียน
นางปัทมา กล่าวว่า บริษัทได้ตั้งงบลงทุนสำหรับช่วง 5 ปีข้างหน้าไว้ราว 1 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆและขยายกำลังการผลิต เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน โดยเงินลงทุนจะมาจากการกู้เงินจากสถาบันทางการเงินและจากการเพิ่มทุน ซึ่งบริษัทก็มีแผนที่จะเพิ่มทุนระดับหลายร้อยล้านบาท จากปัจจุบันที่มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 450 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นช่วงเวลาใด
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มทุนก็จะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ที่อนุญาตให้เพิ่มทุนได้ครั้งละไม่เกิน 50% ของทุนจดทะเบียนปัจจุบัน
“ปัจจุบันเราผลิตแผงเซลส์และแผ่นเซลส์แสงอาทิตย์ แต่ในที่สุดแล้วเราก็จะต้องลงทุนทำโรงไฟฟ้าเอง ซึ่งตอนนี้ที่เรามองอยู่ก็คงเริ่มจากโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟอยู่แล้ว ก็อาจจะเป็นการร่วมทันกับพันธมิตร"นางปัทมา กล่าว
นางปัทมา กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติหลายบริษัทสนใจที่จะเข้ามาถือหุ้นของบริษัท แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ถือหุ้น ปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติหรือหุ้นของบริษัทในสัดส่วนประมาณ 10% ทั้งนี้บริษัทมีข้อกำหนดว่านักลงทุนต่างชาติจะถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วนไม่เกิน 49%