(เพิ่มเติม) THAI เผย Cabin Factor มิ.ย.54 อยู่ที่ 65.8%,รีไฟแนนซ์หนี้ในปท.5 พันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 11, 2011 14:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.การบินไทย(THAI) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันนี้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานในเดือน มิ.ย.54 โดยบริษัทมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร(cabin factor) 65.8% สูงขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ในระดับ 62% และหากคิดอัตราเฉลี่ยทั้งไตรมาส 2/54 cabin factor จะอยู่ที่ 66.5% สูงขึ้น 2.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

พร้อมกันนั้น ในวันนี้คณะกรรมการบริษัทยังมีมติให้ปรับปรุงแผนปลดระวางเครื่องบินในช่วงปี 54-60 เป็นจำนวน 50 ลำ และให้เจรจาปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศวงเงิน 5 พันล้านบาท เพื่อลดภาระอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแหล่งข่าวจาก THAI ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยจ่ายลดลงราว 1.5% ต่อปี

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI กล่าวว่า จำนวนผู้โดยสารในไตรมาส 3/54 คาดว่าจะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เห็นได้จากจำนวนผู้โดยสารสัปดาห์แรกของเดือน ก.ค.เป็นไปตามแผน โดย cabin factor บาวันสูงถึง 80% ดีขึ้นจากปลายไตรมาส 2/54 ที่เป็นช่วงปลาย low season และมีการแข่งขันสูงจากสายการบินฝั่งตะวันออกกลาง อีกทั้งมีภัยพิบัติจากประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ cabin factor ในเส้นทางยุโรปก็ลดต่ำลง

คณะกรรมการบริษัทยังอนุมัติให้ปรับปรุงแผนปลดระวางเครื่องบินระหว่างปี 54-60 จำนวน 50 ลำ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนจัดหาเครื่องบินในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเครื่องบินที่จะปลดระวาง ได้แก่ โบอิ้ง 747-400 จำนวน 6 ลำในปี 55-56 เครื่องบินแอร์บัส A340-500 จำนวน 4 ลำ ในปี 55-56 เครื่องบิน A340-600 จำนวน 6 ลำ ในปี 58-60 ซึ่งเครื่องบินแอร์บัสทั้งสองรุ่นเป็นเครื่องบินที่ใช้น้ำมันสูง ทำให้มีโอกาสทำกำไรน้อยมาก

และปลดระวางเครื่องบินแอร์บัส A300-600 จำนวน 13 ลำ ในปี 54-58 ซึ่งได้เร่งปลดระวางเนื่องจากเป็นรุ่นเก่าและไม่มีการผลิตอีกแล้ว เครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ในปี 57-58 (รวมเครื่องบินที่รับคืนจากนกแอร์ 4 ลำ) เครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER จำนวน5 ลำ ในปี 58 เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 จำนวน 2 ลำ ในปี 60 เครื่องบินแอร์บัส A330-300 จำนวน 3 ลำ ในปี 60 และเครื่องบิน ATR-72 จำนวน 2 ลำ (รับคืนจากนกแอร์ ไม่ครบสัญญาเช่า)

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทยังมีมติให้ยกเลิกการปรับปรุงที่นั่งผู้โดยสาร สำหรับเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และแอร์บัส A340-600 และให้จำหน่ายเครื่องบินแอร์บัส A340-500 ,A340-600 เครื่องบินโบอิ้ง 747-400 เครื่องบินแอร์บัส A300-600 เครื่องบินแอร์บัส A330-300 เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 เครื่องบินโบอิ้ง 737-400 เครื่องบิน ATR-72 ที่อยู่ในแผนปลดระวาง มอบหมายให้ฝ่ายบริหารดำเนินการจำหน่ายและนำเสนอคณะกรรมการบริหารบริษัทและคณะกรรมการบริษัทเพื่อขอนุมัติอีกครั้ง

และได้รับทราบการเลื่อนกำหนดรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER จำนวน 2 ลำ ของบริษัท JET Airways ให้เร็วขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ซึ่งเดิมมีกำหนดรับมอบในวันที่ 25 ต.ค.54 เป็น 26 ก.ค.54 โดยมีแผนนำมาใช้บินในเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพ-มาดริด จำนวน 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ โดยจะเริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.54 เป็นต้นไป

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติการรีไฟแนนซ์เงินกู้จากธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท โดยเป็นการเจรจาปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเดิม วงเงิน 3,000 ล้านบาท และเปลี่ยนวงเงินกู้ 2,000 ล้านบาทเป็นวงเงินกู้หมุนเวียน นอกจากนี้ได้กู้เงินจาก ธนาคาร ไอซีบีซี (ไทย) วงเงิน 1,500 ล้านบาท ระยะชำระหนี้ 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น 2 ปี

และในเดือน ส.ค.54 คณะกรรมการจะมีการพิจารณารายละเอียดการจัดตั้งหน่วยธุรกิจเพื่อจัดตั้งสายการบินใหม่ คาดว่าจะเริ่มได้หลังเครื่องบิน A320 ได้รับมอบลำแรกในเดือน มิ.ย.55 โดยปีแรกจะรับมอบจำนวน 4 ลำ ส่วนที่เหลือจะทยอยส่งมอบจนครบ 11 ลำ ซึ่งระหว่างนี้ได้มอบหมายให้พนักงาน THAI ทั่วโลก ส่งชื่อสายการบินใหม่เข้าประกวด ขณะนี้มีการส่งเข้าประกวดแล้ว 2,000 ชื่อ จะคัดเลือกให้เหลือ 30 ชื่อเพื่อส่งให้คณะกรรมการคัดเลือกต่อไป ส่วนการจัดตั้งสายการบินไทย ไทเกอร์แอร์ไลน์ ต้องรออนุมัติจากกระทรวงคมนาคม

"สายการบินใหม่ค่อนข้างช้าอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะเครื่องบินกว่าจะสั่งซื้อและรับมอบต้องเป็นปีหน้า ตอนนี้สายการบินใหม่มีเกิดขึ้นเยอะ โดยเฉพาะโลว์คอสต์แอร์ไลน์ และเส้นทางบินใหม่ก็ถูกแย่งไปหมด" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในขณะนี้ แต่ THAI แม้จะเป็นรัฐวิสาหกิจแต่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นการกำกับดูแลจะต้องเป็นไปตามหลักกติกาและมาตรฐานสากล คงจะเข้ามาแทรกแซงการทำงานได้ยาก เนื่องจากสัดส่วนการถือหุ้น 49%มาจากภาคเอกชน โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน

ด้านแหล่งข่าวจาก THAI กล่าวว่า การกู้เงินจาก ธนาคารไอซีบีซี(ไทย)จำนวน 1,500 ล้านบาท มีดอกเบี้ยลดลง 1.5% จากต้นทุนเงินกู้เดิมจากธนาคาแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ