(เพิ่มเติม1) รมช.พาณิชย์ สั่งกล่าวโทษผถห.DTAC ที่เข้าข่ายนอมินี,บ.ย้ำขอให้ยุติธรรม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 11, 2011 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปพิจารณาว่าผู้ถือหุ้นรายใดบ้างของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) ที่เข้าข่ายการกระทำผิดฐานเป็นนอมินีต่างชาติ จากนั้นให้กรมฯ ไปดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ถือหุ้นดังกล่าวที่เข้าข่ายการเป็นนอมินี

ทั้งนี้ รมช.พาณิชย์ ขอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รายงานความคืบหน้าในการกล่าวโทษผู้ถือหุ้นของ DTAC มาภายใน 7 วัน

ด้านนายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ไม่เกินวันที่ 19 ก.ค.นี้ จะมีข้อสรุปว่ากรมฯ จะดำเนินการแนวทางใดกับกรณีของ DTAC ระหว่างการส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจไปสอบสวนในเชิงลึกเพิ่มเติม หลังจากพบว่ามีมูลที่แสดงให้เห็นว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายการเป็นนอมินีของต่างชาติ ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางเดิมตามที่คณะทำงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทำความเห็นไว้ หรืออีกแนวทางที่ รมช.พาณิชย์ จะให้กรมฯ ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกับผู้ถือหุ้นของ DTAC ที่เข้าข่ายการเป็นนอมินี

"ผมต้องเลือก 2 ทาง ระหว่างจะทำตามมติของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเดิมที่เราพิจารณจากความเห็นทุกหน่วยงาน และมีมติให้ตำรวจสอบสวนต่อไป เพราะไม่ได้ปรากฎว่าดีแทคเป็นต่างด้าว ไม่เหมือนกุหลาบแก้วที่หลักฐานชัดเจน หรือจะเลือกปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและสั่งการของ รมช.พาณิชย์ ที่ให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ขึ้นอยู่กับว่าคำสั่งของรมช.พาณิชย์ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้ใต้บังคับบัญชาก็ไม่ต้องปฏิบัติตาม" นายบรรยงค์ กล่าว

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มองว่า การที่นายอลงกรณ์ สั่งการให้กรมฯ ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในกรณีผู้ถือหุ้นของ DTAC ที่เข้าข่ายการเป็นนอมินีนั้น อาจเป็นการก้าวล่วงอำนาจของอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะนายทะเบียนตาม พ.ร.บ.ต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งหากตีความสั่งตามมาตรา 82(4) ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน จะเห็นชัดว่าแม้ว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาสั่งในหน้าที่ราชการ แต่อาจจะไม่เป็นตามอำนาจรับผิดชอบ เพราะตามกฎหมายต่างด้าวได้กำหนดขอบเขตอำนาจรัฐมนตรีที่รักษาการตามพ.ร.บ.ให้สามารถแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ใช่เข้ามาแทรกแซงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย

ขณะที่นายอลงกรณ์ ระบุว่า การสั่งการดังกล่าวของตน ไม่ได้มีความเห็นขัดแย้งกับผลการตรวจสอบของคณะทำงานของกรมฯ แต่มีความเห็นต่างจุดเดียว คือ มีหลักฐานและข้อเท็จจริงสามารถกล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับนิติบุคคลและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้เลย ไม่จำเป็นต้องเสนอข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วส่งไปให้ตำรวจสืบสวนสอบสวนซ้ำอีก เพราะมีข้อสงสัยชัดเจน เช่น มีการถือหุ้นไขว้ถึง 5 ชั้น, ที่มาของเงินกู้ซื้อหุ้นผิดปกติ, ที่ตั้งบริษัทแห่งเดียวกัน, กำหนดข้อบังคับที่เอาเปรียบผู้ถือหุ้นข้างมาก, การปันผลก็ให้สิทธิผู้ถือหุ้นข้างน้อยได้ประโยชน์มากกว่า เป็นต้น

"ผมสั่งการไปแล้ว ก็ต้องดำเนินการ ถ้าไม่ดำเนินการก็ต้องมีเหตุผลพิเศษ เพราะการสั่งการของผมอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ได้จากที่คณะทำงานฯ ทำไว้แล้ว ส่วนจะกล่าวโทษนิติบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะต้องไปพิจารณา" รมช.พาณิชย์ กล่าว

ขณะที่ DTAC ออกแถลงการณ์ในวันนี้ว่าบริษัทยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาลอย่างสูงสุด พร้อมยืนยันว่าบริษัทฯ ปฏิบัติตามกฏหมาย และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของไทย โดยบริษัทฯ พร้อมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในกระบวนการตรวจสอบ

ทั้งนี้ DTAC หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระบวนการตรวจสอบจะเป็นไปด้วยความยุติธรรม โปร่งใส และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งยืนยันว่าลูกค้า คู่ค้า ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตลอดจนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากกระบวนการตรวจสอบสถานะของบริษัทฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ