(เพิ่มเติม) ส.นักวิเคราะห์ เพิ่มเป้าดัชนี SET ปีนี้เป็น 1,197 จุดจากเดิม 1,181 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 13, 2011 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ครั้งล่าสุด(13 ก.ค.) พบว่า นักวิเคราะห์ปรับเพิ่มดัชนีหุ้น ณ สิ้นปี 54 เป็นเฉลี่ย 1,197 จุด จากการประเมินครั้งก่อนในเดือนเม.ย.54 ที่ 1,181 จุด โดยประเมินจุดสูงสุดครึ่งปีหลังที่เฉลี่ย 1,221 จุด ต่ำสุดเฉลี่ยที่ 995 จุด

ปัจจัยบวกสำคัญมาจากสถานการณ์การเมืองที่มีเสถียรภาพและความมั่นคงมากขึ้น แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และเอเชีย นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐ การอุปโภคบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 54 ที่เฉลี่ย 4.3% และปี 55 ที่เฉลี่ย 4.7% ขณะที่คาดว่าอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ปี 54 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 16.7%

ในปี 54 กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มโรงแรม คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 220.23% กลุ่มปิโตรเคมีเติบโตเฉลี่ย 81.61% และ กลุ่มอาหารเติบโตเฉลี่ย 32.68 %

ส่วนปี 55 กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มเดินเรือ คาดเติบโตเฉลี่ย 48.39% กลุ่มธนาคาร เติบโตเฉลี่ย 12.94 % กลุ่มชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ เติบโตเฉลี่ย 12.85 %

ส่วนราคาทองคำ นักวิเคราะห์ประเมินราคาทองคำ ณ สิ้นปี 54 เฉลี่ยที่ 22,772 บาทต่อบาททองคำ และคาดว่าราคาทองคำ ณ สิ้นปี 55 เฉลี่ยอยู่ที่ 23,800 บาทต่อบาททองคำ

ข้อเสนอนโยบายที่นักวิเคราะห์แนะภาครัฐดำเนินการ ได้แก่ นโยบายด้านภาษี นโยบายด้านการศึกษา และนโยบายด้านแรงงาน พร้อมแสดงความเห็นต่อคุณสมบัติที่เหมาะสมของรัฐมนตรีว่า ควรมีความรู้และการศึกษาสอดคล้องกับกระทรวงที่จะเข้ามาทำหน้าที่ รวมทั้งเคยมีประวัติการทำงานน่าเชื่อถือและประสบความสำเร็จ

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย(60%)กับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เพราะทำให้ต้นทุนเพิ่ม เสนอให้ทยอยปรับให้สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ , นโยบายเงินเดือนเริ่มต้นปริญญาตรี 15,000 บาท ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย(65%) เสนอให้เป็นไปตามความรู้ความสามารถและกลไกตลาด , การยกเลิกกองทุนน้ำมัน ส่วนใหญ่ไมเห็นด้วย(65%) เพราะเกรงว่าจะเป็นภาระรัฐบาลมากเกินไป

ขณะที่นโยบายลดภาษีนิติบคุคลเหลือ 23% และปีต่อไปเหลือ 20% นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นด้วย(80%) เพราะเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชน แต่ควรระวังการขาดดุลงบประมาณ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ