บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตองค์กรของ บล. คันทรี่กรุ๊ป (CGS) ที่ระดับ “BBB-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงพื้นฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งของบริษัท ตลอดจนฐานะทางการตลาดที่ปรับตัวดีขึ้นในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และผลตอบแทนจากการลงทุนใน บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC)
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีขัอจำกัดจากประวัติผลงานของคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันที่ยังมีไม่มากในการที่จะดำรงผลการดำเนินงานและบริหารจัดการต้นทุนของบริษัทให้มีประสิทธิภาพเนื่องจากผู้บริหารชุดนี้เพิ่งร่วมงานกับบริษัทเมื่อปลายปี 2552 นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่การแข่งขันทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ตลอดจนตลาดหุ้นไทยที่มีความผันผวนมากยิ่งขึ้น และความไม่แน่นอนที่เกิดจากการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบในปี 2555
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความตั้งใจของผู้บริหารที่จะคงสัดส่วนการถือหุ้นใน บลจ. เอ็มเอฟซีเอาไว้และมองหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานและรักษาฐานลูกค้า ตลอดจนบุคลากรด้านการตลาดเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะมีระบบจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอในการควบคุมความเสี่ยงในธุรกิจการลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทและธุรกิจสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์
บล. คันทรี่กรุ๊ปเริ่มมีกำไรในปี 2552 หลังจากมีผลขาดทุนมานานหลายปี โดยความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทได้รับนายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ พร้อมทั้งคณะผู้บริหารและบุคลากรด้านการตลาดจำนวนมากเข้าร่วมงานด้วย หลังจากนั้น ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากระดับประมาณ 3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 มาเป็น 5%-6% ในช่วงครึ่งหลังต่อเนื่องจนถึงปี 2553 อันเป็นผลทำให้ลำดับสถานะของบริษัทขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 ของธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2553 จากที่เคยอยู่ในอันดับ 5 ในปี 2552 และอันดับ 20 ในปี 2551
อย่างไรก็ตาม ปริมาณการซื้อขายของบริษัทลดลงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดตกลงมาอยู่ที่ 4.6% ดังนั้น จึงต้องใช้เวลามากกว่านี้เพื่อที่จะพิสูจน์ความสามารถของบริษัทในการรักษาระดับส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนี้ ทั้งนี้ รายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2553
แม้ว่ารายได้รวมของบริษัทจะเติบโตถึง 80% จาก 898 ล้านบาทในปี 2552 มาอยู่ที่ 1,612 ล้านบาทในปี 2553 แต่สัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 80% ในปี 2553 เทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ประมาณ 60% ในจำนวนนี้คิดเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร กรรมการ และผู้บริหารที่สูงถึง 59% ของรายได้รวม เทียบกับปี 2552 ที่ระดับ 51% ซึ่งนับว่าสวนทางกับแนวโน้มในอุตสาหกรรมที่สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร กรรมการ และผู้บริหารต่อรายได้รวมปรับตัวลดลงจาก 45% ในปี 2552 มาอยู่ที่ 40% ในปี 2553 ท่ามกลางรายได้ที่เติบโตสูงขึ้นเป็นอย่างมากในธุรกิจหลักทรัพย์ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริหารในการที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและปรับปรุงประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ของพนักงานให้ดียิ่งขึ้น
อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยของบริษัทลดลงจาก 0.22% ในปี 2552 มาอยู่ที่ 0.16% ในปี 2553 อันเป็นผลจากการบังคับใช้อัตราค่านายหน้าแบบขั้นบันไดตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 ทั้งนี้ ในปี 2555 ซึ่งจะเป็นปีแรกของการเปิดเสรีค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ อัตราค่านายหน้าน่าจะลดต่ำลงอีกจากการแข่งขันที่รุนแรง แม้ว่าบริษัทจะมีความได้เปรียบในแง่ของการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) จากส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูง แต่หากบริษัทไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานได้ก็อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรในอนาคต
ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนใน บลจ. เอ็มเอฟซี คิดเป็นสัดส่วน 24% ของกำไรสุทธิของบริษัทในปี 2553 บริษัทได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน บลจ. เอ็มเอฟซี เป็น 20.7% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 อันมีผลทำให้ บลจ. เอ็มเอฟซี เปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทร่วม บริษัทได้ทยอยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจนอยู่ที่ระดับ 24.9%ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนใน บลจ. เอ็มเอฟซี นี้ถือได้ว่าเป็นแหล่งรายได้ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอแหล่งหนึ่งของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังมี บลจ. เอ็มเอฟซี เป็นลูกค้าสถาบันในประเทศรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ด้วย
การซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีของบริษัทมีผลตอบแทนที่ดีขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ที่มีการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนใหม่โดยบริษัทไม่มีการขาดทุนจากการซื้อขายหลักทรัพย์เลยในทุกไตรมาสนับจากนั้นจนถึงไตรมาสแรกของปี 2554 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ ผลการดำเนินงานในช่วงเวลาดังกล่าวยังอาจจะสั้นเกินกว่าที่จะประเมินความเสี่ยงและความสามารถในการทำกำไรในส่วนนี้ได้
ในส่วนของความเสี่ยงด้านเครดิตนั้น บริษัทมียอดลูกหนี้สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์อยู่ที่ 940 ล้านบาท ณ ปลายไตรมาสแรกของปี 2554 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปีก่อน โดยมียอดลูกหนี้จัดชั้นอยู่ในระดับสูงที่ 400 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่มีปัญหามาตั้งแต่ปี 2551 และมีการตั้งสำรองเต็มจำนวนแล้ว
ณ สิ้นปี 2553 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นสูงถึงเกือบ 3 พันล้านบาท โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปอยู่ที่ระดับ 175% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนดไว้ที่ 7% เป็นอย่างมาก