นายชลัช ขินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ และสายงานผลิตและเทคนิค บมจ.น้ำตาลขอนแก่น(KSL)มั่นใจปี 54 กำไรสุทธิปี 54 ทำสถิติสูงสุดใหม่ จากปี 52 ที่มีกำไรสุทธิสูงถึง 900 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิในงวดไตรมาส 3/54 เชื่อว่าจะทำกำไรได้สูงกว่างวดไตรมาส 2/54 ที่ 551 ล้านบาทที่ถือว่าอยู่ในระดับสูงมาก พร้อมทั้งปรับเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโตเพิ่มเป็น 15% มาที่ 1.4 หมื่นล้านบาท จากปีก่อน 1.2 หมื่นล้านบาท สูงกว่าที่เดิมคาดไว้ว่าจะเติบโต 5-10%
เนื่องจากปีนี้บริษัทสามารถส่งออกน้ำตาลทรายขาวได้มาก โดยเฉพาะในงวดไตรมาส 3/54 ส่งออกได้ถึง 2.2 แสนตัน เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากไตรมาส 2/54 ที่ส่งออกได้ 1.2 แสนตัน รวมทั้งราคาส่งออกสูงกว่าด้วย อยู่ที่ประมาณ 700-800 เหรียญ/ตัน ดังนั้น จึงคาดว่ารายได้และกำไรในงวดไตรมาส 3/54(พ.ค-ก.ค.)ดีกว่าในงวดไตรมาส 2/54 (ก.พ.-เม.ย.)
"ปีนี้เทียบกับปีที่แล้วไม่ได้ซึ่งกำไรลดไปเยอะ แต่ปีนี้กำไรดีมากๆ ครึ่งปีหลังน่าจะกำไรดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะน้ำตาลส่วนใหญ่ส่งออกครึ่งปีหลังมากกว่า...ผมว่าแค่ไตรมาส 3 รวมกับไตรมาส 2 เราก็เลยนิวไฮแล้ว เพราะของเก่ากำไรแค่ 900 ล้านบาท ปีนี้น่าจะมีกำไรดีที่สุด นอกจากนี้ปีนี้ไม่มีผลขาดทุนอนุพันธ์ จากปีก่อนมีผลขาดทุนประมาณกว่า 300 ล้านบาท"นายชลัช ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"
"รายได้ปีนี้น่าจะโตอย่างน้อย 10% น่าจะถึง 15% เพราะราคาขายดีกว่าปีที่แล้วเยอะ ปริมาณก็เพิ่มขึ้น ยอดผลิตเราเพิ่มขึ้นมาตั้ง 30% ซึ่งจะทำเป็นน้ำตาล แล้วก็มีเอทานอล ไฟฟ้าด้วย พอดูงบรวมก็น่าจะโตสัก 15% เป็นอย่างน้อย...ปีนี้หล่อมาก"นายชลัช กล่าว
นายชลัช กล่าวว่า ผลประกอบการที่ดีขึ้นในปีนี้ส่วนหนึ่งมาจากผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นเป็น 6.2 ล้านตันอ้อย สูงกว่าปีก่อนที่มี 4.2 ล้านตันอ้อย จากภาพรวมในปีนี้ที่ไทยจะผลิตได้ 95 ล้านตันอ้อย สูงกว่าปีก่อนที่มีผลผลิต 68 ล้านตันอ้อยหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 40% ประกอบกับ ราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังคงปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะปรับฐานขึ้นไปแล้ว แต่ราคาในประเทศยังขายในราคาควบคุมอยู่ ซึ่ง KSL แบ่งขายในประเทศประมาณ 1.5 แสนตัน ตามส่วนแบ่งตลาดที่มีอยู่ 7% ของความต้องการบริโภคภายในประเทศ จำนวน 2.5 ล้านตัน ขณะที่ปีนี้ส่งออกน้ำตาลทราย 75% ส่วนที่เหลือขายในประเทศ
ทั้งนี้ ปติงบรวมของบริษัทจะมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจน้ำตาลเป็น 70% แต่ปีนี้คาดว่าสัดส่วนเพิ่มเป็น 75% ที่เหลือเป็นรายได้จากธุรกิตเอทานอลที่ใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ และโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากกากอ้อย รวมกันประมาณ 25% และอีก 5% มาจากบริษัทย่อย
นอกจากนั้น ในปีนี้บริษัทมีผลขาดทุนในลาวและกัมพูชาลดลงจากปีก่อนที่มี 280 ล้านบาท ลดลงเหลือประมาณกว่า 30-40 ล้านบาท และคาดว่าในปีหน้าจะพลิกมามีกำไรได้ หลังจากเดินเครื่องการผลิตได้ 50-60%
นายชลัช กล่าวว่า โรงงานในลาวและกัมพูชาแม้ว่าจะเริ่มการผลิตไปแล้ว 2 ปี แต่ไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากคนงานยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตน้ำตาลมาก่อน ปัจจุบันเดินเครื่องได้ประมาณ 40% ของกำลังการผลิตรวมกันทั้งสองโรงงานรวมปริมาณ 1.5 แสนตัน/ปี แต่คาดว่าจะเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตในอีก 3-4 ปีข้างหน้า
ขณะเดียวกัน บริษัทวางแผนตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทุกๆ 2 ปี จะก่อสร้าง 1 โรงงาน แผนระยะใกล้ได้กำหนดในจ.เลย กำลังการผลิต 2.8 หมื่นตัน/วัน หรือ 2-3 ล้านตันอ้อยต่อปี เงินลงทุน 3.8 พันล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) โดยใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดแล้วเสร็จและเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 56
และพื้นที่ต่อไปจะเข้าไปตั้งโรงงานใน จ.สระแก้ว ที่มีขนาดกำลังการผลิตเท่ากัน คาดแล้วเสร็จและเริ่มผลิตในปี 58
"บริษัทมีแผนตั้งโรงงานเพิ่มเติมหลังจากโรงงานในบ่อพลอยเริ่มการผลิตในปีนี้ โดยโรงานที่จ.เลย คาดว่าได้รับอนุมัติเรื่อง EIA ในปลายปีนี้ และจะเริ่มเชิงพาณิชย์ในปี 56 ถ้าที่ เลยเสร็จก็น่าจะมีที่สระแก้วต่อ ขณะนี้มีที่ดินพร้อมแล้ว มีขนาดโรงงานใกล้เคียงกับโรงงานในจ.เลย"นายชลัช กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทจะเริ่มจ่ายเงินลงทุนส่วนใหญ่ในการตั้งโรงงานใหม่ใน จ.เลยในปี 56 แหล่งเงินทุนมาจากกระแสเงินสดที่บริษัทมีในมือปีละประมาณ 2 พันล้านบาท และส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงิน นอกจากนี้ภายในอีก 2 ปี คาดว่าจะได้รับเงินจากการใช้สิทธิแปลงวอแรนต์เป็นเงินประมาณ 1.5 พันล้านบาท