(เพิ่มเติม) PTT เล็งทุ่ม 1 แสนล้านเหรียญลงทุน 10 ปี ติดอันดับใน 100 บ.ยักษ์ใหญ่โลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 20, 2011 10:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.ตั้งเป้าในอนาคตจะติด 1 ใน 100 ของการจัดอันดับบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกของนิตยสารฟอร์จูน จากปัจจุบันอยู่อันดับ 128 จึงวางแนวทางเพิ่มขนาดการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้มากขึ้น แผนลงทุนของกลุ่ม ปตท.ใน 10 ปีข้างหน้าอาจจะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึงประมาณ 3 ล้านล้านบาท หรือ ประมาณ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยกว่า 50% จะเป็นการลงทุนในต่างประเทศ

ทั้งนี้ บริษัทจะประชุมคณะกรรมการบริหารในวันที่ 23 ก.ค. เพื่อกำหนดทิศทางกลยุทธ์ตามแผนธุรกิจ 5 ปี ตั้งแต่ปี 55-59 คาดว่าจะมีการใช้เม็ดเงินลงทุนประมาณ 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนของ ปตท.กว่า 3 แสนล้านบาท บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) กว่า 4 แสนล้านบาท กลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มโรงกลั่นกว่า 2 แสนล้านบาท โดย 40% ของเงินลงทุนจะนำไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของ PTTEP

นายประเสริฐ กล่าวว่า หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนทั้งหมด กลุ่ม ปตท.จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า จากนั้นจะเพิ่มเป็น 6 ล้านล้านบาทตามแผนธุรกิจ 10 ปี

"การขยายธุรกิจของ ปตท.ในต่างประเทศ คาดว่าจะมีการระดมทุนโดยการนำบริษัทในเครือที่ไปลงทุนในต่างประเทศเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศนั้นๆ ส่วน ปตท.จะเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศอื่นอีกหรือไม่ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม"นายประเสริฐ กล่าว

สำหรับการลงทุนภายใต้แผน 5 ปี แบ่งเป็นของ ปตท.เองกว่า 3 แสนล้านบาท บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) กว่า 4 แสนล้านบาท กลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มโรงกลั่นกว่า 2 แสนล้านบาท โดย 40% ของเงินลงทุนจะนำไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของ PTTEP

งบลงทุนของ ปตท.จะเน้นไปที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมากที่สุด เช่น การลงทุนก่อสร้างคลังรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ระยะที่ 2 การวางท่อส่งก๊าซฯ ไปภาคเหนือและอีสาน และการวางท่อบนบกเส้นที่ 4 เพื่อเชื่อมคลัง LNG ไปยังผู้ใช้ก๊าซฯ การขยายเครือข่ายก๊าซธรรมชาติในรถยนต์(NGV) และการวางท่อย่อยเชื่อมโครงข่ายท่อก๊าซฯ หลัก

"แผนธุรกิจของ ปตท.สผ.ตั้งเป้าการผลิตไว้ที่ 9 แสนบาร์เรลต่อวันในปี 63 จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตประมาณ 3 แสนบาร์เรลต่อวัน ในส่วนของเงินลงทุนของ ปตท.สผ. ส่วนนี้ยังไม่ได้รวมอยู่ในเม็ดเงินลงทุนของ ปตท.ตามยุทธศาสตร์ 5 ปี แต่จะรวมเม็ดเงินลงทุนเมื่อได้แหล่งลงทุนที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งการลงทุนของ ปตท.สผ.จะประกอบด้วย การลงทุนเพื่อรักษาระดับการผลิตแหล่งที่ทำการผลิตอยู่ในปัจจุบัน การลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต และการทำคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ"นายประเสริฐ กล่าว

นอกจากนี้ ปตท.ยังมีการลงทุนในธุรกิจถ่านหินในต่างประเทศ เช่น บรูไน มาดากัสการ์ ออสเตรเลีย รวมถึงการเข้าไปซื้อกิจการ และการร่วมทุนสร้างคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ ส่วนการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าจะเน้นในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหิน เพื่อขายไฟฟ้ากลับมาประเทศ โดยจะมุ่งไปที่ประเทศลาวและพม่า เป็นต้น

ขณะที่การลงทุนของกลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่น ส่วนใหญ่จะลงทุนผ่านบริษัทในเครือ ปตท.โดยจะเน้นปรับปรุงคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 4 และพลังงานทดแทน เช่น เอทานอล พลังงานแสงอาทิตย์ โดย บมจ.ไทยออยล์(TOP) จะขยายการลงทุนไปยังธุรกิจเอทานอลมากขึ้น บมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP) ขยายการลงทุนในธุรกิจเอทานอลและพลังงานแสงอาทิตย์

ส่วน บมจ.ปตท. เคมิคอล(PTTCH) และบมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น(PTTAR) อยู่ระหว่างขั้นตอนการควบรวมกิจการ ซึ่งจะมีการวางแผนธุรกิจภายหลังจากควบรวมกิจการกันเรียบร้อยแล้ว โดยเน้นที่การลงทุนผลิตเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษที่มีคุณภาพสูง และการผลิตที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

ด้านบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) จะลงทุนตามแผนโครงการฟีนิกซ์ ซึ่งได้มีการอนุมัติโครงการลงทุนไปแล้วกว่า 85-90% โดยคาดว่าการลงทุนจะอนุมัติได้ครบในเร็วๆ นี้

นายประเสริฐ กล่าวว่า แผนในอนาคตของ ปตท.ได้ปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจจากการผลิตและจำหน่ายน้ำมันและก๊าชธรรมชาติเป็นหลัก มาเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจพลังงานที่หลากหลายและครบวงจร (Business Conglomerate) หลังจากขยายเข้าไปลงทุนธุรกิจถ่านหิน ปิโตรเคมี และโรงไฟฟ้า

ธุรกิจถ่านหินนับเป็นธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มสร้างรายได้ที่ดี เนื่องจากมีปริมาณสำรองทั่วโลกกว่า 120 ปี ขณะที่น้ำมันมีปริมาณสำรองเหลือเพียง 40 ปี และก๊าชธรรมชาติเหลือเพียง 60 ปี รวมทั้งถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงราคาถูก เป้าหมายธุรกิจถ่านหินจะมีกำลังการผลิตประมาณ 30-40 ล้านตันในปี 58 และจะเพิ่มเป็น 70 ล้านตันต่อปีในปี 63 ซึ่งขณะนี้เป็นการลงทุนผ่าน บริษัท ปตท.เอเชียแปซิฟิค ไมนิ่ง ที่มีเหมืองในอินโดนีเซีย กำลังการผลิต 10 ล้านตันต่อปี รวมถึงประเทศที่ถือสัมปทานอยู่และอยู่ระหว่างการขอสัมปทาน

"ในบรูไนหากกระบวนการขอสัมปทานแล้วเสร็จ ปตท.จะเจรจากับพันธมิตรที่ถือหุ้นในสัมปทานดังกล่าวเพื่อขอถือหุ้นเพิ่มขึ้น"นายประเสริฐ กล่าว

อยางไรก็ตาม การขยายการลงทุนคลังรับจ่ายก๊าซ LNG ระยะที่ 2 เป็น 10 ล้านตันต่อปี และการขยายอีกคลังในอีก 20 ปีข้างหน้า ยังต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงพลังงาน แต่เบื้องต้นคาดว่าในปี 63 ความต้องการใช้ LNG อาจสูงถึง 20 ล้านตันต่อปี หากทำเฟส 2 ก็ต้องลงทุนอีก 400 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเฟสแรกลงทุนไป 700 ล้านเหรียญสหรัฐ และเปิดการผลิตเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือน ก.ค.54 สามารถรองรับปัญหานำเข้ากรณีทดแทนก๊าซธรรมชาติที่หายไปจากกรณีท่อก๊าซในอ่าวไทยรั่ว ซึ่งนำเข้า LNG เพิ่มเติม 4 ลำเรือ ปริมาณ 2 แสนตัน ทำให้ลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 2 พันล้านบาท เมื่อเทียบเท่ากับการผลิตด้วยน้ำมันเตา

นายประเสริฐ ยังเปิดเผยว่า กำไรสุทธิในไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.45 หมื่นล้านบาท คาดว่าในไตรมาสที่ 2 จะดีกว่าไตรมาสเดียวกันปีก่อน ทำให้ครึ่งปีแรกจะมีรายได้และกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และหากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับนี้ ก็จะเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งของ ปตท.และประสบความสำเร็จมากขึ้น คาดว่าทั้งปีจะมียอดขายทะลุ 2.3-2.4 ล้านล้านบาท จากปีที่ผ่านมา 1.9 ล้านล้านบาท

ด้านนายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ ประธานกรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ได้มีการวางแผนผลิตแอลเอ็นจีลอยน้ำ (FLNG) ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี ใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกันนี้ ยังเข้าไปขยายการลงทุนในแหล่งที่ถือหุ้นอยู่แล้ว ประกอบด้วย แหล่ง Cash&Maple ในประเทศออสเตรเลีย คาดว่าปลายปีหน้าจะรู้ผลการเจาะสำรวจปริมาณสำรองในแหล่ง หากมีปริมาณสำรอง 1.2 ล้านตัน ก็จะสามารถผลิต FLNG ได้ 2 ล้านตัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ