นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับตลาดทุน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในการประชุมครั้งที่ 7/2554 ประจำเดือนกรกฎาคมว่า คณะกรรมการเห็นชอบให้ปรับปรุงการรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการตามมาตรา 246 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปี 2535 (รายงานทุกร้อยละ 5) และปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุน เพื่อรองรับการมีผลใช้บังคับของกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และเพิ่มทางเลือกให้กองทุนสามารถลงทุนในศุกูกและเงินฝากธนาคารอิสลามได้
โดยปรับปรุงการรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ ลดภาระการรายงานทุกร้อยละ 5 และปรับปรุงเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลเพิ่มขึ้น โดยเรื่องที่ปรับปรุงในกลุ่มแรกซึ่งเป็นไปเพื่อการลดภาระได้แก่ ให้รายงานทุกร้อยละ 5 เฉพาะหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยกเลิกการส่งสำเนารายงานให้ตลาดหลักทรัพย์ เพราะมีการเผยแพร่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว
และ ยกเว้นการรายงานทุกร้อยละ 5 ให้แก่ ผู้ยืมและผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ในธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL) และการนำหลักทรัพย์ไปเป็นหลักประกันในธุรกรรม SBL เนื่องจากเป็นธุรกรรมที่มีข้อตกลงในการคืนและรับคืนหลักทรัพย์ หรือเพิกถอนหลักประกันในภายหลัง จึงไม่ใช่ธุรกรรมที่ต้องการโอนหลักทรัพย์โดยเด็ดขาด ,ผู้ที่ได้หลักทรัพย์ตามสิทธิการเป็นผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (right offering) เพราะเป็นการได้มาตามสิทธิที่มีอยู่แต่เดิม, ผู้ที่ได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์อ้างอิงของใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง (DR) ที่ออกโดยบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากผู้ถือ DR ได้รายงานการถือ DR ทุกร้อยละ 5 โดยเปิดเผยผ่านเว็บไซด์ของ ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว
สำหรับกลุ่มเรื่องที่ปรับปรุงเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย เพิ่มเติมให้การรายงานทุกร้อยละ 5 ครอบคลุมไปถึงตราสารที่ออกโดยบุคคลอื่นที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือตราสารดังกล่าวในการแปลงสภาพหรือได้รับส่งมอบหุ้นของบริษัทจดทะเบียน เช่น ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (derivative warrant) ซึ่งในระยะหลังเริ่มมีการออกตราสารลักษณะนี้กันมากขึ้น
กำหนดให้บุคคลที่มีการเพิ่มหรือลดนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือบุคคลที่กระทำการร่วมกัน (concert party) และทำให้ผลรวมของหลักทรัพย์ที่ถืออยู่ในบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นหรือลดลงผ่านทุกร้อยละ 5 ต้องยื่นรายงานทุกร้อยละ 5 ต่อ ก.ล.ต. เพื่อแสดงการเปลี่ยนแปลงผลรวมการถือหลักทรัพย์ของทั้งกลุ่มด้วย
ส่วนการปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุน เนื่องจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะทยอยลดวงเงินที่คุ้มครองลง โดยจะลดวงเงินคุ้มครองเป็นไม่เกิน 50 ล้านบาทในวันที่ 11 สิงหาคม 2554 และไม่เกิน 1 ล้านบาทในวันที่ 11 สิงหาคม 2555 ซึ่งอาจมีผลให้ความเสี่ยงของกองทุน ที่ลงทุนในเงินฝากของสถาบันการเงินเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เพื่อเป็นการให้ความคุ้มครองผู้ลงทุน ก.ล.ต. จึงจะปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุน โดยกำหนดอัตราส่วนการลงทุน (company limit) ในเงินฝาก รวมถึงตราสารและธุรกรรมกรรมที่ทำกับสถาบันการเงิน โดยพิจารณาจากอันดับความน่าเชื่อถือ (rating) ของตราสารหรือสถาบันการเงินแต่ละแห่ง เพื่อให้กองทุนมีการกระจายการลงทุนที่สอดคล้องคล้องกับคุณภาพของตราสารหรือสถาบันการเงินดังกล่าว
กองทุนจะสามารถลงทุนในเงินฝาก ตราสาร หรือทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินรายใดรายหนึ่งที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า investment grade หรือไม่มีการจัดอันดับการลงทุน ได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และเมื่อคำนวณรวมการลงทุนดังกล่าวกับทรัพย์สินอื่นที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า investment grade หรือไม่มีการจัดอันดับการลงทุน ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ได้เพิ่มทางเลือกการลงทุนโดยเปิดโอกาสให้กองทุนสามารถลงทุนในศุกูกและเงินฝากธนาคารอิสลามได้ โดยอัตราส่วนการลงทุนในศุกูกและเงินฝากธนาคารอิสลามจะกำหนดให้เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนของตราสารหนี้และเงินฝากในสถาบันการเงินทั่วไป ทั้งนี้ กองทุนจะต้องพิจารณาความเสี่ยงอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน และเปิดเผยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องไว้ในหนังสือชี้ชวนให้ผู้ลงทุนทราบด้วย
“การปรับปรุงเกณฑ์การรายงานทุกร้อยละ 5 เพราะใช้มาค่อนข้างนานพอสมควรแล้ว เพื่อลดการรายงานที่ในปัจจุบันไม่มีความจำเป็น ส่วนการปรับหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุน เพื่อให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของการฝากเงินและการลงทุนในตราสารของสถาบันการเงิน ซึ่งจะเปลี่ยนไปจากการที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากกำลังจะลดวงเงินคุ้มครองลง ในชั้นนี้ประเมินว่าจะไม่มีผลกระทบกับกองทุนรวมต่าง ๆ มากนัก เนื่องจากสถาบันการเงินส่วนใหญ่มีการจัดอันดับอยู่ในระดับ investment grade"นายธีระชัย กล่าว