ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร BAY AA- หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ A+ แนวโน้มคงที่

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 21, 2011 10:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่ระดับ “AA-" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันของธนาคารที่ระดับ “A+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดในธุรกิจหลักของธนาคาร ตลอดจนฐานะการเงินและคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงมูลค่าเครือข่ายทางธุรกิจ (Franchise Value) ที่เติบโตขึ้นด้วย ยังได้รับแรงเสริมจากการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของ GE Capital International Holdings Corporation (GECIH) ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของธนาคารในสัดส่วน 33%

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากการที่ธนาคารมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPA) ในระดับสูง รวมถึงภาวะการแข่งขันในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ทวีความรุนแรง ตลอดจนความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศและสถานการณ์ทางการเงินทั่วโลกอันอาจจำกัดความสามารถในการขยายธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะสามารถรักษาฐานะทางการเงินเอาไว้ได้และปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้นในระยะปานกลาง อีกทั้งยังคาดว่าธนาคารจะยังคงได้ประโยชน์จากการประสานจุดแข็งทางธุรกิจกับกลุ่ม GE ในการเพิ่มสินเชื่อที่สร้างกำไรและขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่มูลค่าเครือข่ายทางธุรกิจในระยะยาวแก่ธนาคาร ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตอยู่บนพื้นฐานความคาดหมายที่การบังคับใช้พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จะมีผลในเดือนสิงหาคม 2554 นี้จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบอย่างรุนแรงโดยทันทีต่อระบบธนาคารพาณิชย์

ทริสเรทติ้งรายงานว่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 BAY เป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 5 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านสินทรัพย์ 8.6% เงินให้สินเชื่อ 9.5% และเงินรับฝาก 8.5% ธนาคารมีสินทรัพย์ตามงบการเงินรวมจำนวน 870.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จาก 821.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 กลยุทธ์การใช้จุดแข็งของกลุ่ม GE ซึ่งมีความชำนาญในธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย (Retail Banking) ช่วยให้ธนาคารสามารถเติบโตได้ในช่วงระหว่างปี 2551-2553 ทั้งจากการขยายตัวแบบปกติตามลักษณะธุรกิจของธนาคาร (Organic Growth) และขยายตัวผ่านการซื้อกิจการ การซื้อกิจการดังกล่าวสร้างความแข็งแกร่งทางการตลาดให้แก่ธนาคารในธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยและธุรกิจบัตรเครดิต ทำให้เกิดการกระจายตัวของสินเชื่อโดยการมีสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงเพิ่มมากขึ้น (สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล)

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 ธนาคารมีสินเชื่อเพื่อรายย่อยคิดเป็นสัดส่วน 44% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 22% ในปี 2550 ในขณะที่สัดส่วนของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ลดลงจาก 34% เป็น 28% และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมลดลงจาก 44% มาอยู่ที่ 28% ปัจจุบันธนาคารเป็นผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 อีกทั้งยังเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้วรายใหญ่ที่สุดด้วย

BAY ได้รับการถ่ายทอดความรู้และระบบปฎิบัติงานจากกลุ่ม GE หลังจากที่กลุ่ม GE เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ โดยได้มีการปรับปรุงองค์กรในช่วงระหว่างปี 2550-2552 ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุด (Optimization) และเร่งขยายธุรกิจ (Acceleration) ระหว่างปี 2553-2555 โดยมุ่งเน้นการรวมธุรกิจประเภทเดียวกันและระบบสนับสนุนที่ซ้ำซ้อนในกลุ่มธนาคารเข้าด้วยกัน (Integration) รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพในการเสนอบริการข้ามสายผลิตภัณฑ์ (Cross-selling) โดยคาดว่าจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้แก่มูลค่าเครือข่ายทางธุรกิจของธนาคารได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม คณะผู้บริหารยังคงให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ และการสร้างการเติบโตในสินทรัพย์ที่จะสามารถสร้างกำไรได้อย่างสม่ำเสมอท่ามกลางสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจและกฎเกณฑ์ของทางการที่ยังไม่มีความแน่นอนในอนาคต

ธนาคารมีฐานะทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2553 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2554 โดยมีกำไรสุทธิสำหรับปี 2553 จำนวน 8,793 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากปี 2552 ซึ่งมีจำนวน 6,659 ล้านบาท กำไรสุทธิของธนาคารในไตรมาสแรกของปี 2554 เท่ากับ 2,808 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของสินทรัพย์ที่สร้างผลกำไรดี รวมถึงการลดต้นทุนของธนาคาร อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (ROAA) และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ย (ROAE) ในปี 2553 เท่ากับ 1.07% และ 9.17% ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก 0.87% และ 7.44% ในปี 2552 อัตราส่วนดังกล่าวยังคงเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2554 โดยมีอัตราส่วนเท่ากับ 0.32% และ 2.82% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.26% และ 2.21%

ทางด้านคุณภาพของสินทรัพย์ BAY มีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี ซึ่งส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารดีขึ้น ธนาคารประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่คงค้างมานาน สะท้อนจากปริมาณ NPLที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณ NPL ณ สิ้นปี 2553 เท่ากับ 38.1 พันล้านบาท (หรือ 5.86% ของเงินให้สินเชื่อรวม) ลดลงจาก 52.1 พันล้านบาท (หรือ 8.6% ของเงินให้สินเชื่อรวม) ณ สิ้นปี 2552 อันเป็นผลจากการจำหน่าย NPL ให้แก่บุคคลภายนอกประมาณ 12.7 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม อัตราส่วน NPL ในปี 2553 ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย 11 แห่งในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.79% (ไม่รวมธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน))

ธนาคารยังคงมี NPL ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 โดยมี NPL คงเหลือ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 จำนวน 36.5 พันล้านบาท (หรือ 5.52% ของเงินให้สินเชื่อรวม) ในขณะเดียวกัน NPA ของธนาคาร (เงินให้สินเชื่อจัดชั้นค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน เงินให้สินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอันเป็นผลมาจากความพยายามอย่างต่อเนื่องของธนาคารที่จะลด NPA ลง อัตราส่วน NPA ต่อสินทรัพย์รวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 อยู่ที่ระดับ 9.4% ลดลงอย่างต่อเนื่องจากสิ้นปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 23.96% แต่ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 7.52%

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพียงพอที่จะรองรับการเสื่อมค่าของคุณภาพสินทรัพย์ด้วย โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 ธนาคารมี NPA คิดเป็น 0.58 เท่าของเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งลดลงจาก 1.00 เท่า ณ สิ้นปี 2552 และใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 0.58 เท่า

ในส่วนของแหล่งเงินทุนนั้น ธนาคารมีแหล่งเงินทุนที่มีการกระจายตัวดีและสอดคล้องกับโครงสร้างของสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคารมากขึ้น ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 ธนาคารมีเงินทุนรวมทั้งสิ้น 823.7 พันล้านบาท โดยเป็นเงินรับฝาก 70% เงินกู้ยืมจากสาธารณะ (ทั้งการออกหุ้นกู้และตั๋วแลกเงิน) 14% ส่วนของผู้ถือหุ้น 12% และเงินกู้ยืมจากตลาดเงินระหว่างธนาคาร 4% สำหรับเงินรับฝากของธนาคาร ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 ในส่วนที่เป็นเงินฝากประเภทกระแสรายวันและออมทรัพย์นั้นมีสัดส่วน 41% เพิ่มขึ้นจาก 38% ในปี 2552 ในขณะที่ส่วนที่เหลือเป็นเงินฝากประจำอัตราดอกเบี้ยคงที่

ธนาคารมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งเพื่อใช้สนับสนุนการขยายธุรกิจและรองรับความสูญเสียที่มิอาจคาดการณ์ได้จากความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมในการประกอบธุรกิจในระยะปานกลาง อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของธนาคารลดลงเล็กน้อยจาก 11.87% ณ สิ้นปี 2552 เป็น 11.48% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 เนื่องจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินเชื่อเป็นประการสำคัญ อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระดับที่สูงที่สุดในอุตสาหกรรม คือเท่ากับ 16.79% โดยเพิ่มขึ้นจาก 14.15% ในปี 2552 และ 15.84% ในปี 2553 รวมทั้งยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 14.96% ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ